Beauty Standards จุดร้าวของความเป็นมนุษย์

Beauty Standards จุดร้าวของความเป็นมนุษย์

สรุปบทความ

การกล่าวชื่นชมเป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีต่อกัน แต่หลายครั้ง การสร้างมาตรฐานตรงข้ามกับการชื่นชมกลายเป็นสิ่งที่สร้างบาดแผลในจิตใจให้กับคนหนึ่งคน รวมไปถึงการทำลายความเป็นมนุษย์ จากมายาคติที่บิดเบือนของสังคมอีกด้วย

“เพราะไม่สวย

จึงกลายเป็นลูกเป็ดขี้เหร่ของสังคม?”

เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศเกาหลีได้สร้างซีรี่ย์เรื่อง True Beauty ออนแอร์สู่สายตาเหล่าคอซีรี่ย์ จนกลายเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ด้วยความน่ารักของเนื้อเรื่อง ความเปิ่นของอิมจูกยอง นางเอกของเรื่อง True Beauty ความละมุนจุนใจ หรือจะเป็นไอ้ต้าวอปป้าของพระเอกในเรื่องอย่างลีซูโฮ แต่หากลองมองให้ลึกลงไป นอกเหนือจากความน่ารัก และความฟินจิ้นแตกที่เราเคลิบเคลิ้มกัน ในเรื่องนี้เรายังได้เห็นบางสิ่งที่ถูกซ่อนไว้ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญ ที่คอยขับเคลื่อนซีรี่ย์เรื่องนี้ให้ดำเนินต่อไปอย่างมีอรรถรส

‘ความสวยที่กลายเป็นดาบสองคม’ หากใครที่ไม่ได้ดูซีรี่ย์เรื่องนี้ เราจะขอเล่าให้ฟังคร่าวๆว่า อิมจูกยอง นางเอกของเรื่อง ถูกเพื่อนๆในโรงเรียนกลั่นแกล้ง กลุ่มที่มีอิทธิพลในโรงเรียน มีผลต่ออิมจูกยองเป็นอย่างมาก เพราะเขาทั้งถูกแกล้ง ถูกกดขี่ ถูกลดคุณค่าของตัวเอง ด้วยสาเหตุจากที่นางเอกเป็นสิว หน้าตาไม่สวยเท่ากลุ่มป๊อบในโรงเรียน ทำให้อิมจูกยอง กลายเป็นความสนุกสนานของกลุ่มคนที่คิดว่าตัวเองดีกว่า เหนือกว่าในเรื่องหน้าตา เมื่ออิมจูกยอง ย้ายโรงเรียน จึงเลือกปกปิดปมของตัวเองที่เคยถูกกลั่นแกล้ง ด้วยการแต่งหน้าบดบังสิ่งที่เป็นจุดด้อย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ความสวยที่ได้มาก็คือความสวยที่เขาพยายามปกปิดมัน

จากกระแสซีรี่ย์ดังกล่าว ทำให้เราหันกลับมามองถึงวัฒนธรรม และความเชื่อของคนในปัจจุบันเกี่ยวกับเรื่อง Beauty Standards คำถามที่ว่า วันนี้ฉันสวยหรือยังนะ หุ่นดีพอที่จะออกจากบ้านแล้วจะไม่โดนทักว่าอ้วนหรือยัง จะต้องไปฉีดผิวขาวให้ขาวขึ้นไหม เพราะไม่อยากโดนทักว่าดำ เสริมจมูกโด่งดีกว่า เพราะไม่อยากโดนว่าดั้งแหมบ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความสวยพร้อมที่สังคม โดยเฉพาะในบ้านเรา นำมาเสนอผ่านสื่อโฆษณา ผ่านละคร หรือที่เห็นได้ชัดๆอย่างการจัดกิจกรรมประชันความสวย หล่อ ที่ตัดสินจากสิ่งที่เห็นภายนอกของแต่ละคน ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนเป็น สิ่งเหล่านี้เลยกลายเป็นดาบของสังคมที่ส่งผลให้ Beauty Standards ไม่ใช่ความงดงาม หรือคุณค่าที่ทุกคนมี แต่กลายเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องใช้ความพยายามเพื่อที่จะเข้าสู่มาตรฐานที่สังคมกำหนด

ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป มีผลต่อมาตรฐานความสวย

 สิ่งที่เราพบเห็นได้บ่อยครั้ง คือทุกคนมักจะตัดสินใจว่าอะไรดีไม่ดี จากความเชื่อที่ถูกสร้างขึ้นและถูกเก็บสะสมมาจนกลายเป็นองค์ความรู้ ซึ่งอาจจะเป็นความรู้ที่ถูกต้องหรือไม่ก็ไม่มีใครทราบได้ รวมถึงเรื่อง Beauty Standards ที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัย สิ่งที่ถูกสะท้อนออกมาผ่านการนำเสนอของสื่อและมุมมองทางสังคมในแต่ละยุค กลายเป็นกรอบความคิดที่บิดเบี้ยว จนทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า เราจะต้องเป็นให้ได้ตาม Beauty Standards แบบนั้นจริงๆหรือ?

เรื่องความสวย ความหล่อ ถูกยกเป็นประเด็นถกเถียงทางสังคมมาอย่างยาวนานหลายศตวรรษ ซึ่งในแต่ละยุคสมัย มาตรฐานความสวยงามในสังคมถูกเปลี่ยนแปลงไปตามความเชื่อแต่ละยุคสมัย เช่นในยุค Renaissance ผู้หญิงอวบคือผู้หญิงที่สวย หรือการใส่คอร์เซ็ทเพื่อปรับรูปร่าง ให้เอวคอดตามกระแสสังคมนิยม จนส่งผลให้กลายเป็นความสวยงามสุดสยอง ถัดมาในยุคที่เน้นรูปร่างหน้าตา ให้ขาว ผอมเพรียว ทำให้ความสวยที่เคยยึดถือกันมาก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไปเนิ่นนานเท่าไร กลุ่มคนตรงข้ามมาตรฐาน ก็ยังคงเป็นคนกลุ่มเดิมที่ได้รับผลกระทบจากค่านิยมดังกล่าว ผู้ที่ไม่ได้รับคัดเลือกให้อยู่ในมาตรฐานที่สื่อและสังคมสร้างขึ้นมาก็ยังคงถูกสร้างบาดแผลเป็นรากลึกฝังโคนในจิตใจ

“แล้วแบบนี้ความสวยยังจำเป็นไหม!”

เราลองมาฟังมุมมองจากคนที่ได้รับผลกระทบจาก Beauty Standards ในสังคมกันดีกว่า

“ที่หนักสุดเลย ก็คงเป็นตอนประถม ทั้งสายชั้นรุมแกล้ง เช่น ว่าที่บ้าน หน้าตา ผิวดำ ดั้งก็ไม่มี หน้าก็เอี้ย (ความจริงแรงกว่านี้) ตอนนั้นรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียนเลยอะ อยากลาออก รู้สึกว่าไม่มีใครชอบเรา ทั้งนิสัย หน้าตา แล้วก็เป็นปมมาจนถึงตอนนี้เลย ถามว่าก้าวข้ามผ่านได้ไหม บอกเลยว่ายังผ่านไปไม่ได้ขนาดนั้น บางทีก็เกลียดคนในกระจก ทั้งที่มันคือตัวเราเอง เราไม่เคยพอใจในหน้าตาตัวเองเลย มันเหมือนฝังใจไปแล้ว เจ็บปวดนะจริง ๆ  ”

โบนัส สาว Introvert ผู้คลั่งรักในเรื่องจิตวิทยา

“โดนล้อตั้งแต่เด็กเรื่องหูกาง เลยไม่อยากมัดผมเท่าไร แล้วมันกลายเป็นกรอบที่กำหนดการแต่งตัวของเราไปเลยนะ แต่อีกมุมนึงก้รู้สึกว่า คนที่สวยอะ โดน Sexual Harassment ด้วยอะ เหมือนว่าคนที่อยู่ใน Beauty Standards ก็ไม่ได้ไม่โดนอะไรอะ ก็เลยคิดว่า ไม่ควรจะมีใครโดนอะไรอะ จาก Beauty Standards แล้วเราก้รู้สึกว่าทุกคนไม่ได้ Perfect ด้วยแหละ คือบางคนนิสัยก็อาจจะสวนทางกับหน้าตาก็มี ” 

ป่าน สาวน้อยผู้คลั่งไคล้ในชานมไข่มุก 

“ส่วนตัวผมโดนนะ คือถ้าใครเห็นผมก็จะรู้ว่าผมแต่งตัวค่อนข้างจัด ก็เลยจะโดนทักเรื่องการแต่งตัว แล้วอีกอย่างผมเป็นคนตัวใหญ่ก็เลยจะโดนทักเรื่องน้ำหนักด้วย ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ต้องมานั่งทักกันอะ ต่างประเทศเขาก็ไม่ได้ทักกัน เรา Chubby ก็น่ารักดี รูปร่างใครรูปร่างมันอะ จะแต่งตัวแบบไหน ผมว่ามันไม่ควรเซ็ตว่าคนคนนึงจะต้องเป็นยังไง ให้ใครมาตัดสินตัวเรา เรามีอิสระในตัวเอง”

มิน หนุ่มผู้หลงใหลในวงการแฟชั่น

“ตอน ม.6 เคยอ้วนมาก่อน แบบ 90 กว่า ผลที่ตามมาคือ โดนล้อเป็นเรื่องปกติ คำนามที่ขึ้นมาเรียกเราเนี่ยจะไม่ใช่ชื่อเรานะ แต่เป็น ไอ้อ้วน หรือบางทีประชดประชันไปเลยอย่างเช่นแบบ ตัวเล็ก ก็จะรู้สึกแบบตะขิดตะขวงอยู่ตลอดเวลา นั่นคือจุดเริ่มต้นให้ผมลดน้ำหนักนะ ไม่จำเป็นที่คนเราชอบอะไร แล้วต้องไปเปลี่ยนให้เป็นแบบที่เราชอบ อย่างผม ก็ยอมรับว่ามองคนที่หน้าตา ทุกคนมองคนที่หน้าตาอยู่แล้ว  เพียงแต่เราต้องมีการ Educate มากพอที่จะไม่ใช้แค่หน้าตาเป็นองค์ประกอบในการตัดสินคนอื่นก็แค่นั้น ก็แค่ยูสามารถ Admire คนว่าสวยหล่อได้ แต่ในขณะเดียวกันต้องไม่ไป Devalue คนที่ไม่ตรงกับ Beauty Standards ของตัวเอง ” 

เจมส์ เด็กติดเกมส์ที่ชอบทำตัวเป็นเป็ด

“อย่างฟ้าทำจมูก ตอนเด็กๆ อ้วน ฟันห่าง ตอนเด็กๆคือ Insecurity หนักมาก ฟ้าถึงขั้นไม่ชอบตัวเอง คือ ไม่ส่องกระจกเลย ก่อนออกจากบ้านก็แบบไม่ส่องกระจก เพราะไม่อยากเห็นหน้าตัวเอง แต่พอตัดสินใจทำจมูก ก็ยอมรับว่ามันไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ทำให้ข้างในดีขึ้น มันก็ดีขึ้น แต่มันก็รู้สึกว่ามั่นใจขึ้น แล้วก็มีคนชมว่าแบบดูดีขึ้น มันก็ Boost Confident ของเราขึ้นมา สื่อมีผลอย่างมากนะ” 

ฟ้า สาวสายฝอที่แสนเปราะบาง

“ตอนเด็กๆ ก็เพื่อนพูดเล่นกันแหละ เราไม่ได้คิดมากอะไรด้วยอ่ะ ก็เลยปล่อยๆไป ถ้าเป็นเพื่อนๆพูดกัน เราก็รู้แหละว่าเพื่อนไม่ได้คิดอะไร แต่ถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่รู้จักเรา เราก็คงไม่ได้รู้สึกดีอ่ะ เพราะว่าใครก็คงไม่ชอบถ้ามีคนมาพูดอะไรแบบนี้ด้วย ส่วนตัวผมคิดแบบนี้นะ”

ต้าร์ หนุ่มติสท์ผู้สร้างความสุขด้วยเสียงเพลง

สื่อ เครื่องมือหลักที่สร้างบาดแผลให้กับคนที่ไม่เข้าตา

การนำเสนอของสื่อต่างๆ โดยเฉพาะ การโฆษณา เช่น การโฆษณาครีมทาผิว ที่ผู้แสดงหลักมักจะเป็นผู้หญิงผิวขาว หรือแม้แต่โฆษณาในฝั่งของผู้ชาย ที่นักแสดงหลักจะต้องหุ่นดี แข็งแรง หรือหากยังมองเห็นภาพไม่ชัดเจน การเกิดขึ้นของกิจกรรมต่างๆ อย่างเช่น การประกวดดาวเดือน ในรั้วมหาวิทยาลัย การประกวดนางงามหรือนางสาวต่างๆ บนโลกของเรา และยังมีอีกหลายกิจกรรม ที่ไม่ได้เน้นกันที่ความสามารถ แต่กลับให้ความสำคัญที่หน้าตา รูปร่าง หรือแค่เพียงสิ่งที่มองเห็น ไม่ได้มองลึกลงไปถึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคน หรือมองเห็นความสวยจากภายใน

Beauty Standards จึงกลายเป็นบาดแผลของผู้คนที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของมาตรฐานความสวยที่สังคมกำหนด สิ่งนี้กลายเป็นสิ่งที่สร้างความเจ็บปวดให้กับคนจำนวนมาก ตั้งแต่อดีตจนถึงในปัจจุบัน จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เรื่องนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง และเริ่มมีการเรียรู้และปรับบริบทมุมมองของคนในสังคมเกี่ยวกับความสวยที่สังคมสร้างขึ้นมา

ปัญหาสังคม ที่มาพร้อมกับ Beauty Standards และ Beauty Privileges

ปัญหาสังคมในปัจจุบัน มีหลากหลายเรื่องราว หลากมิติที่เกิดขึ้น รวมถึงเรื่องของ Beauty Standards ที่เกิดจากการหล่อหลอมความคิดของสังคม จนกลายเป็นกระแสความเชื่อที่แรงกล้า ที่ขับเคลื่อนแนวความคิดของสังคม จนกลายเป็นมาตรฐานหลักที่กรอบความคิดให้หลายคนเชื่อว่า ความสวยแบบนั้น ความหล่อแบบนี้ คือสิ่งที่ถูกต้อง

หลายครั้งความเชื่อที่เราเชื่อกันอยู่ ก็กลายเป็นสิ่งที่น่ากลัวในการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น การที่ผู้หญิงหลายสามีถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่ดี หรือการที่ผู้ชายถูกคาดหวังว่าต้องเก่ง ต้องแข็งแรง (Toxic Masculinuty) รวมถึง ความเชื่อเรื่องความสวย หล่อ (Beauty Standards) ที่เราพูดถึงกันอยู่บ่อยๆ คำพูดหยอกล้อต่างๆที่ไม่ได้ตั้งใจของใครหลายคน กลายเป็นการลดคุณค่าของคนอื่นโดยไม่รู้ตัว 

นี่คือจุดเริ่มต้นของบาดแผลที่ฝังลึกลงไปในจิตใจของคนฟัง บางครั้งไม่ใช่แค่คำพูดเท่านั้น ที่ทำร้ายคนอื่น แต่กลายเป็นการรวมตัวกันเพื่อความคึกคะนอง การกลั่นแกล้งผู้คนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มความเชื่อของตัวเอง หลายกลุ่มเพื่อความสนุกสนาน หรือสร้างความรู้สึกที่เหนือกว่าผู้อื่น ซึ่งหารู้ไม่ว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่นั้น คือการทำลายความมั่นใจที่คนคนหนึ่งมี 

แนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไป คือสัญญาณที่ดี

การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจนในปัจจุบัน  คือการที่คนในสังคมเริ่มตั้งคำถามกับความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกาย ความสวย ความหล่อ หรือสิ่งที่หลายคนนำไปกล่าวหาคนอื่น การโดนตัดโอกาสในสิ่งต่างๆ เช่น การทำงาน การใช้ชีวิต หรือแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆอย่างการแต่งตัว การตั้งชุดความคิดที่เราเชื่อกันมาอย่างเนิ่นนานเกี่ยวกับความดูดีที่เราโดนกรอกหูกันอยู่ทุกวัน จนทำให้เชื่อกันว่าเป็นความสวยที่ทุกคนควรจะเป็น ทั้งที่ความสวยงามที่แท้จริง มีอีกหลายมิติที่เราควรให้ความสำคัญ เช่น ทัศนคติ ความคิด และความมั่นใจที่แต่ละคนมี ไม่ใช่แค่รูปร่างหน้าตาเพียงเท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยเพียงเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเทรนด์โลกหรือกระแสสังคมที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับค่านิยมเรื่อง Beauty Privileges และ Beauty Standards เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางที่ดี นี่ถือว่าเป็นการสัญญาณเริ่มต้นที่ดี เป็นแรงขับเคลื่อนสังคมที่แรงกล้าในการเปลี่ยนมุมมองของมาตรฐานความสวย การเลิกโฟกัสที่ความสวย หล่อ หรือการใช้มาตรฐานความเชื่อมาเป็นเครื่องมือในการทำลาย กดดัน และปิดโอกาสของคนตรงข้ามกับมาตรฐาน กระแสสังคมเล็กๆที่เกิดขึ้น การมีอินฟลูเอนเซอร์ใหม่ๆที่เกิดขึ้น อย่างหนูรัตน์ ธิดาพร, แม่สิตางศุ์ ส้มหยุด หรือแม้กระทั่งหญิงลี พระมหาเทวีเจ้า ที่ในปัจจุบัน ไม่ได้โฟกัสที่หน้าตา ความสวย แต่โฟกัสที่ความน่ารัก และความสามารถของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นค่านิยมที่ควรเกิดขึ้นในโลกของเรา

สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ กลายเป็นแรงขับเคลื่อนมุมมอง และการเปลี่ยนเนื้อหาของสื่อที่พยายามสร้างกรอบความคิดของสังคม การสร้างค่านิยมที่ผิดๆ ทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการสร้างบาดแผลที่ทำลายความเป็นมนุษย์ของคนอื่น ดังนั้น คำว่า Beauty Standards จึงเป็นเรื่องที่สังคมควรทำความเข้าใจกัยเสียใหม่ คำว่า บิวตี้ ไม่ควรถูกจำกัดแค่ว่าสวย หล่อ แต่ควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่แต่ละคนเป็น ไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นเห็น เพื่อทำให้ทุกคนในสังคมสามารถใช้ชีวิตของตัวเองในแบบที่ตัวเองอยากเป็น ไม่ใช่สิ่งที่สังคมอยากให้เป็น

สอบถามข้อมูลอื่นๆ หรือสิทธิพิเศษเพิ่มเติม

กรุณาสแกนคิวอาร์โค้ด หรือเพิ่มเพื่อนด้วยไอดีไลน์ @kaideeofficial