ปลูกผักสวนครัวสไตล์ป้าป้อม…ความคิด การเรียนรู้ และผักสด

ปลูกผักสวนครัวสไตล์ป้าป้อม…ความคิด การเรียนรู้ และผักสด

บ้านที่มีกำแพงสีส้มถูกแต้มแต่งด้วยกระถางปลูกผักสวนครัวคือภาพจำที่เราใช้มองหาจุดหมายปลายทางขณะขับรถเข้ามาในซอยปรีดีพนมยงค์ 14 และลัดเลาะไปตามซอยเล็กซอยน้อย ที่ยิ่งลึกยิ่งละทิ้งความวุ่นวายของถนนสุขุมวิทจนแทบลืมไปเลยว่าเรากำลังอยู่ในเมืองใหญ่ 

รถเคลื่อนตัวช้าๆ ไปตามถนนคอนกรีต และไม่นานนักเราก็มาหยุดตรงหน้าบ้านเป้าหมายที่ร่มรื่นอยู่ใต้เงาไทรต้นใหญ่และหมู่มวลผักสวนครัวริมรั้วที่พาให้บรรยากาศที่เงียบสงบอยู่แล้ว ดูผ่อนคลายเข้าไปอีก 

ที่นี่คือบ้านของ ‘ป้าป้อม-ศิริกุล ซื่อต่อชาติ’ เจ้าของเพจ ‘ป้าป้อมปลูกผัก’ และวิทยากรรับเชิญวัยเกษียณที่ยังเก๋าด้วยสารพัดความรู้ด้านการพึ่งพาตนเองที่ใครหลายคนอาจคุ้นหน้าคุ้นตามาจากเพจ ‘สวนผักคนเมือง : ปลูกเมือง ปลูกชีวิต’ ซึ่งวันนี้เราจะมาชวนป้าป้อมคุยเรื่องการปลูกผักสวนครัวและมุมมองความคิดที่ได้มามากกว่าผักสดทานอร่อย 

ป้าป้อม-ศิริกุล ซื่อต่อชาติ เจ้าของเฟซบุ๊คเพจป้าป้อมปลูกผัก

เริ่มลองปลูกผักสวนครัว

“ป้อมไม่ได้มีในหัวสมองเลยว่าจะไปหาความรู้เรื่องการปลูกผักในงานแฟร์นั้น แต่พอไปเห็นแผ่นพับ เขาบอกว่าสอนปลูกผักเท่านั้นแหละค่ะ เลยสะดุดความรู้สึกเราขึ้นมาว่าในเมืองปลูกผักได้ด้วยเหรอ เลยเก็บแผ่นพับเขามา แล้วไปเรียนปลูกผักที่สวนผักบ้านคุณตา ตรงสุขุมวิท 62” 

ป้าป้อมพาย้อนความหลังถึงที่มาที่ไปของการเริ่มต้นปลูกผักสวนครัวเมื่อสิบกว่าปีก่อนว่าเกิดจากการไปเดินเล่นในงานกรีนแฟร์หนึ่งของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ณ สวนเบญจสิริ 

“เป็นนักเรียนรุ่นแรกของสวนผักบ้านคุณตาเลย เขาสอนตั้งแต่เพาะถั่วงอก สอนการปรุงดิน สอนการปลูกผักที่ขึ้นง่ายๆ อย่างการปักชำ สอนการปลูกผักสวนครัว พอเรียนจากเขาแล้วก็เอามาทำที่บ้านและใช้ระเบียงเป็นที่ปลูกผักก่อน เพราะรอบบ้านเทคอนกรีตหมดแล้วจึงไม่มีพื้นดินให้ปลูกอีก”

ด้วยความที่เป็นคนทำอะไรแล้วทำอย่างตั้งใจ ส่งผลให้การทดลองปลูกผักสวนครัวในกระถางหลังจากที่ได้ร่ำเรียนมาของป้าป้อมประสบสำเร็จอย่างสวยงาม จนต้องขยายอาณาจักรการปลูกสู่หน้าบ้านและพื้นที่ริมกำแพงอย่างที่เห็นทุกวันนี้

“ป้อมไม่ได้ทำเพราะความอยาก ความอยากบางทีถ้ารู้สึกเบื่อๆ ก็เลิกทำได้นะ แต่นี่เราทำเพราะตั้งใจจริงๆ และพอได้ผลผลิต เราก็รู้สึกสนุก มีความสุขดี อีกอย่างเราเป็นคนทำกับข้าว พออะไรมันหยิบจับได้ง่ายก็รู้สึกสะดวกสบายดี” 

ป้าป้อมเน้นปลูกเฉพาะพืชผักที่ทานได้ หากลองนับจากกระถางที่วางเรียงรายอยู่รอบบ้านแล้ว บอกได้เลยว่ามากกว่า 10 ชนิดแน่นอน มีตั้งแต่ผักสวนครัวเบสิคอย่างต้นหอม ผักชี ขึ้นฉ่าย พริกขี้หนู ผักบุ้ง คะน้า มัน ไปจนถึงกลุ่มผักสลัด ผักโขม มิ้นท์ โรสแมรี่ วอเตอร์เครส และอีกมากมาย

“ที่บ้านจะแพ้ทางกับพวกไม้เลื้อยอย่างแตง ถั่วพู ถั่วฝักยาว เพราะพวกนี้เขาต้องการพื้นดินเยอะ ใช้สเปซในการเติบโต พอเราไม่มีพื้นดินตรงนั้นปลูกทีไรจึงมีปัญหาทุกที ฉะนั้นพอเรารู้แล้วเราก็ไม่ฝืน เพราะมันไม่เหมาะกับสถานที่เรา”

บรรยากาศรอบๆ บ้านป้าป้อม เต็มไปด้วยพืชพันธุ์ที่สามารถเก็บมารับประทานได้

ถ่ายทอดความรู้ปลูกผักสวนครัวสไตล์คนเมือง

สมัยเริ่มต้นปลูกผักสวนครัวใหม่ๆ ป้าป้อมมักแบ่งปันเรื่องราวลงในเฟซบุ๊คเสมอ จนวันหนึ่งเธอได้รับการติดต่อจาก ‘สวนผักคนเมือง’ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ให้เข้าร่วม ‘โครงการปลูกผักง่ายๆ สไตล์คนเมือง’ เพื่อเป็นศูนย์อบรมการทำเกษตรในเมือง โดยได้รับทุนสนับสนุนจำนวนหนึ่งเพื่อเปิดสอนการปลูกผักสวนครัวแบบไม่ใช้สารเคมี รวมทั้งนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ให้กับบุคคลทั่วไปฟรี ซึ่งตัวผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในนักเรียนที่เคยเข้าอบรมกับป้าป้อมด้วย 

ที่จำได้คือ ป้าป้อมสอนตั้งแต่การทำปุ๋ยหมักโดยใช้เศษใบไม้และเศษอาหารที่เหลือในครัว ซึ่งไม่เพียงช่วยกำจัดขยะสดในครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่ใช้ปรุงดินให้อุดมสมบูรณ์พร้อมเป็นแหล่งอาหารของพืชผักสวนครัวทุกชนิด มีการสอนปลูกผักโตเร็วเพื่อไว้ทานเองที่บ้านอย่างถั่วงอก และต้นอ่อนทานตะวัน รวมไปถึงการปักชำผักบางชนิดที่ลงทุนซื้อครั้งเดียวแต่ได้ผลผลิตนาน เช่น โหระพา แมงลัก และผักชี เป็นต้น 

“พอโครงการหมดงบ ทางสวนผักคนเมืองก็แนะนำให้ป้อมเปิดคอร์สสอนเองเลย ก็ไม่คิดไม่ฝันนะว่าเราจะมีรายได้เมื่อเกษียณอายุแล้ว โดยแนวการสอนที่ถนัดคือการปลูกผักในกระถางนี่แหละ เป็นการปลูกในพื้นที่ที่จำกัดเพื่อเอาไว้ทานเอง”

ในระหว่างการสนทนาป้าป้อมมักให้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยสมกับที่เป็นวิทยากรอบรมมานาน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกปักชำโดยใช้พืชอินทรีย์ที่มีความแข็งแรงมากกว่าพืชที่ซื้อจากตลาด ซึ่งมีความฉ่ำน้ำและมีโอกาสอ่อนแอสูง หรือการเช็คอุณหภูมิของน้ำก่อนเปิดรดใส่ต้นไม้ในช่วงกลางวันถึงบ่าย 

 “การปลูกผักสวนครัวนั้นต้องมีความตั้งใจในการดูแลมาก อย่างกำแพงข้างบ้านแดดลงช่วงบ่าย และมีความเป็นกำแพงปูนที่เก็บความร้อน ถ้าวันไหนรดน้ำแค่ครั้งเดียวต้นไม้หรือผักก็แห้งเหี่ยวแล้ว ถ้าแดดร้อนขนาดนี้ป้อมต้องรดน้ำวันละ 4 ครั้ง เช้า 7 โมง ก่อนกินข้าวกลางวัน 11 โมง บ่าย 2 โมง และรอบสุดท้ายคือ 4 โมง เพื่อไม่ให้ดินในกระถางเขาแห้งเลย เพราะถ้าปล่อยให้เขาแห้งแล้วมารดน้ำใหม่ มันไม่มีประโยชน์แล้ว”  

นอกจากเปิดคอร์สสอนปลูกผักแล้ว ป้าป้อมยังหมั่นเติมความรู้และพัฒนาตัวเองจนมีหลักสูตรการสอนใหม่ๆ โดยเฉพาะการทำอาหารจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น เต้าหู้ เต้าฮวย และน้ำสลัดทานคู่กับผักปลูกเอง อีกทั้งยังเป็นวิทยากรรับเชิญให้กับเฟซบุ๊คเพจสวนผักคนเมืองเป็นครั้งคราว  

การปลูกผักสวนครัวริมกำแพงบ้านคือจุดเด่นของศูนย์เรียนรู้บ้านป้อมเองในโครงการปลูกผักง่ายๆ สไตล์คนเมือง

ปลูกผักสวนครัวเปลี่ยนนิสัยและความคิด

“การปลูกผักช่วยเรื่องอารมณ์ได้ดี”

นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่สัมผัสได้หลังจากที่มีกิจกรรมปลูกผักสวนครัวเข้ามาในชีวิต ป้าป้อมยกเคสหนึ่งให้ฟังว่าได้มอบหมายให้หลานช่วยรดน้ำดูแลผักบนระเบียง แต่หลานดันลืมจนทำให้ผักเหี่ยวเฉาเกินเยียวยา  

“ถ้าเป็นเมื่อก่อน เราโกรธเขานะ และรับไม่ได้ว่าทำไมของแค่นี้ถึงทำไม่ได้ แต่พอหลังๆ เรายอมรับความสูญเสียหรือความเสียหายแบบนี้ได้มากขึ้น กลายเป็นว่าเราชินด้วย เพราะเห็นว่าตายบ่อย แล้วเราก็บอกตัวเองว่า ไม่เป็นไร ยังมีต้นอื่นอีก หรือพอมาคิดอีกด้านหนึ่ง เราเป็นคนหาภาระให้เขาเอง แล้วเราจะไปโกรธหลานทำไม” 

การปลูกผักยังเป็นสะพานเชื่อมให้ป้าป้อมได้รู้จักผู้คนหลากหลายในสังคม

“เมื่อก่อนเป็นคนที่อยู่แต่ในบ้าน ดูหนัง ดูทีวี ฟังเพลง แต่พอมีงานนี้ขึ้นมา เราได้ใช้ชีวิตข้างนอกมากขึ้น เคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น ทำให้กระตือรือร้นจากที่เคยเป็นคนเฉื่อยๆ และได้รู้จักคนในซอยมากขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่รู้จักใครเลยแม้แต่คนที่อยู่บ้านตรงข้าม และพอมาทำงานกับสวนผักคนเมือง เราก็ได้สังคมเพิ่มเจอกลุ่มคนที่พูดจาภาษาเดียวกัน และได้เจอกับเครือข่ายอาหารออแกนิคและเกษตรอินทรีย์ที่กว้างมากจนซูเปอร์มาร์เก็ตไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับเราอีกต่อไป”

ป้าป้อมกลายเป็นคนที่คิดเยอะเลือกแยะในเรื่องอาหารการกิน โดยจะพยายามเสาะหาแหล่งที่มาของอาหารปลอดภัย เพื่อให้แน่ใจว่าได้คัดสรรวัตถุดิบคุณภาพสำหรับปรุงอาหารจริงๆ บางครั้งต้องอาศัยเวลาและการวางแผน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบทเรียนของการรู้จักรอคอยเช่นเดียวกับการปลูกผักสวนครัว

“พอวันหนึ่งเรามาปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง แม้ต้นจะไม่งาม ใบจะมีแมลงกินไปบ้าง แต่เราก็ภูมิใจ มันค่อยๆ สะสมจนเราเองก็เปลี่ยนการดำเนินชีวิต ไม่ใช่แค่เรื่องการอุปโภคบริโภค แต่เรายังจะพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด อะไรทำเองได้ทำ ซึ่งเราเองมีกลุ่มเพื่อนที่เป็นคอเดียวกัน พอมีอะไรก็แบ่งปันกัน อย่างคนนั้นทำน้ำยาล้างจานเป็น เราก็เอาสูตรมาลองทำ จนทุกวันนี้เรามีน้ำยาล้างจานใช้เองมาเป็นสิบปีแล้ว”

ป้าป้อมบอกว่าไม่ต้องไปออกไปหาความสุขที่ไกลตัวที่ไหน แค่ปลูกผักสวนครัวริมรั้วก็พบได้แล้ว

บทสรุปการปลูกผักสวนครัวสไตล์ป้าป้อม 

เราปิดท้ายบทสนทนาด้วยน้ำโรยดอกมะลิของป้าป้อม ที่แม้ตอนนี้ความเย็นจะระเหยไปแล้ว แต่ความหอมชื่นใจยังคงชัดเจน เช่นเดียวกับ ‘ความสุขและความสนุก’ ของป้าป้อมที่เกิดการปลูกผักสวนครัวรอบบ้าน ที่ถึงแม้ผลิตผลอาจไม่เติบโตสมบูรณ์แบบเหมือนอย่างที่ขายในตลาดแต่ก็สร้างความชุ่มชื่นให้หัวใจได้ทุกครั้ง 

หากใครอยากสัมผัสความรู้สึกเช่นนี้ ป้าป้อมมีคำแนะนำเพียงว่า “ลองค่ะ ต้องลองปลูกดูแล้วจะรู้ว่าความสุข มันอยู่แค่การปลูกผักสวนครัวนี่แหละ ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน แค่ในบ้าน หน้าบ้านก็หาได้แล้ว”

สอบถามข้อมูลอื่นๆ หรือสิทธิพิเศษเพิ่มเติม

กรุณาสแกนคิวอาร์โค้ด หรือเพิ่มเพื่อนด้วยไอดีไลน์ @kaideeofficial