เล่าประสบการณ์ “โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง” (Imposter Syndrome) ในอาชีพ Content Writer

เล่าประสบการณ์ “โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง” (Imposter Syndrome) ในอาชีพ Content Writer

สวัสดีทุกคน เราชื่อ “โบนัส” จริงๆ เราไม่มั่นใจเลยที่จะเขียนเรื่องนี้ เพราะไม่รู้ว่าจะเขียนให้เพื่อน ๆ เข้าใจได้หรือเปล่า แต่เราอยากแชร์เลยลองเขียนดู หวังว่าเรื่องนี้จะมีประโยชน์กับเพื่อน ๆ ที่กำลังเผชิญหน้าหรือคิดว่าตัวเองกำลังจะเป็นโรคนี้อยู่บ้างนะ 🙂

“จุดเริ่มต้น”

ตั้งแต่เด็กจนโต เราอยู่กับความคาดหวังสูงเสียดฟ้ามาตลอด แล้วยิ่งกับการเป็นลูกสาวคนเดียวของบ้านด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าต้องแบกรับความคาดหวังและทำให้มันสำเร็จให้ได้ แต่.. ไม่ว่าเราจะผ่านด่านความคาดหวังกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง เรามักจะได้ยินประโยคที่ว่า “ทำได้แค่นี้เหรอ” ทุกครั้ง ซึ่งรู้ตัวอีกที เราก็กลายเป็นคนที่ตั้งคำถามกับทุกอย่างในชีวิตของตัวเองไปซะแล้ว

ตอนแรกเรามีความมั่นใจมากว่าเรามีความสามารถ ทำได้ดีแล้ว (เท่าที่คนๆหนึ่งทำได้) แต่พอเจออะไรอะไรพวกนั้นบ่อย ๆ ความคิดของเราก็ไม่เหมือนเดิมอีกเลย

ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะโชคช่วย
จริง ๆ แล้ว เราไม่เก่งอะไรเลย

เราว่าชีวิตเราโชคดี และมักจะเข้าไปอยู่ในจังหวะที่ดีอยู่เสมอ ทำให้หลาย ๆ อย่างในชีวิตของเราประสบความสำเร็จเป็นอย่างที่หวัง ไม่ว่าจะเป็นการที่เรายื่นคะแนนรับตรงเข้าคณะที่ตั้งใจได้ หรือแม้แต่การได้งานที่เราอยากทำ ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือเราไม่รู้สึกดีใจกับสิ่งที่ได้มาเลย เพราะเรารู้สึกว่าเราได้จากความโชคดีมากกว่า ความรู้สึกต่อมาคือเราคิดเสมอว่าเราไม่เก่ง ไม่มีอะไรดี ไม่สมควรได้รับโอกาสเหล่านี้ด้วยซ้ำ .. . มันเป็นแค่เรื่องผ่านมาผ่านไปแค่นั้น และนั่นคือความเจ็บปวดอยู่กับเรามาตลอด ถ้าเป็นวงกลม 2 วง ก็เรียกได้ว่ามันทับซ้อนกันจนจะแนบสนิทเป็นหนึ่งเดียวกันอยู่แล้ว

“Dead Inside” 

การเป็นนักเขียนของเราแน่นอนว่ามันไม่ง่าย แต่ไม่รู้ทำไมเราไม่เคยยินดีกับงานเขียนของเราเลยสักครั้ง หนำซ้ำยังรู้สึกว่ามีคนเก่งรอบตัวเยอะไปหมดจนรู้สึกว่าตัวเองตัวเล็กกว่าพวกเขามาก รู้สึกว่างานเขียนของทุกคนดีกว่าเราหมด เราอยู่อันดับท้าย ๆ ของทีม อีกทั้งยังกลัวการเปิดเผยว่าชิ้นงานนี้เป็นของตัวเอง แม้ผลของมันจะออกมาน่าพอใจก็ตาม

ช่วงทำงานก็เหมือนกัน เมื่อเราเริ่มเขียนงานสักชิ้น เราจะเริ่มรู้สึกว่างานเขียนของเราห่วยแตก ไร้ประโยชน์ จากนั้นก็เริ่มโทษตัวเองหนักขึ้น รู้สึกว่าสิ่งที่เกิดในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นคำชม ความพอใจต่าง ๆ หรือแม้แต่สิ่งที่คาดหวัง มันไม่ได้ดั่งใจไปหมดเลย จากความคิดทั้งหมดที่บอกไปในตอนแรก ทำให้เราทำงานลำบากมากขึ้น เราเริ่มไม่อยากไปทำงาน กลัวการคุยกับเพื่อนร่วมงาน ไม่กล้าเสนอไอเดีย ความคิดเริ่มเป็นไปในเชิงลบ ไม่อยากไปเจอเพื่อน และเก็บตัวมากขึ้น ซึ่งสิ่งรุนแรงที่สุดคือเราไม่อยากเขียนอะไรอีกเลย สุดท้ายเราเลยตั้งคำถามกับตัวเองว่า “หรือเราไม่ควรเอาสิ่งที่รักมาเป็นอาชีพกันแน่?”

ก่อนชีวิตจะพังไปมากกว่านี้ เราเลยเริ่มหาคำตอบว่าเรากำลังเป็นอะไรกันแน่ จนได้รู้จักกับ Imposter Syndrome

Imposter Syndrome

Imposter Syndrome คือ อาการที่บุคคลมีความกังวลเกี่ยวกับความสามารถหรือแม้แต่ความสำเร็จของตัวเอง โดยจะคิดเสมอว่าตัวเองไม่เก่งพอ ด้อยคุณภาพ ไม่คู่ควรกับสิ่งที่ได้มา รวมไปถึงสิ่งต่าง ๆ ได้มาเพราะโชคช่วย

อาการดังกล่าวถูกค้นพบโดยนักจิตวิทยา ในปี ค.ศ. 1978 แล้ว
ซึ่งอาการ Impostor Syndrome ยังไม่ได้การรับรองให้เป็นโรคทางจิตเวชอย่างเป็นทางการ แต่นับว่าอาการดังกล่าวส่งผลต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก

แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าเราเป็น Imposter Syndrome ?

ก่อนอื่นต้องบอกว่าใคร ๆ ก็เป็น Imposter Syndrome ได้ แต่อาการดังกล่าวก็มีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะเกิดกับกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จระดับสูง เด็กจบใหม่ เด็กที่พ่อแม่ปกป้องช่วยเหลือมากเกินไป นักวิชาการ คนที่ถูกพูดว่าตัวเองไม่เก่งจนคิดแบบนั้นจริง ๆ ไปจนไปถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกเสียส่วนใหญ่ ถ้ากำลังสงสัยว่าเรากำลังเป็นอยู่หรือเปล่า ลองสังเกตตัวเองผ่าน Checklist ต่อไปนี้ดู

  • ฉันทำได้เพราะมีคนช่วยต่างหาก
  • ฉันทำได้เพราะมี Connection มากมาย
  • ฉันไม่ได้มีอะไรพิเศษ หรือเก่งอะไรหรอก คนอื่นก็ทำได้เหมือนกันนั่นแหละ
  • ฉันไม่ควรได้รับสิ่งดี ๆ คำชม หรืออะไรทั้งนั้น
  • ทุกคนแค่ทำตัวดีกับฉันไปอย่างนั้นแหละ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม
  • ฉันไม่อยากขอความช่วยเหลือใคร ต้องการรับผิดชอบเพียงคนเดียว
  • ทุกอย่างได้มาเพราะโชคช่วย และความบังเอิญ
  • ฉันตั้งความคาดหวัง และตั้งเป้าหมายกับทุกอย่างสูงเกินความเป็นจริง
  • ไม่เคยพอใจกับสิ่งที่สำเร็จหรือเกิดขึ้น เพราะรู้สึกว่ายังไม่ดีพอ

ถ้าเช็คแล้วรู้สึกว่าตัวเองเข้าข่าย เราว่าถึงเวลาแล้วล่ะต้องจัดการความรู้สึก เริ่มพยุงใจตัวเองได้แล้วนะ 🤍

ทางออก ?

การเดินออกจากความรู้สึกพวกนี้ แน่นอน..มันไม่ง่าย แต่จะให้อยู่เฉย ๆ ก็ไม่ได้เหมือนกัน และนี่คือวิธีเอาตัวรอดจาก Imposter Syndrome อย่างง่าย ๆ ของเราเอง

ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น

ข้อนี้ทำยากสุด เพราะความคิดมันจะตีกันตลอดเวลา แต่ถ้าไม่ยอมรับให้ได้ว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร สาเหตุมาจากไหน ก็ไปต่อไม่ได้ เราก็เลยต้อง “พยายาม” (ใช้คำว่าพยายามเลยนะ) ที่จะยอมรับให้ได้ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม

ร้องไห้ ร้องไห้ แล้วก็ร้องไห้

ยอมรับได้แล้ว ต้องหาทางระบายออก ซึ่งเราก็เป็นพวก EMO จ๋า ๆ อยู่แล้วด้วย รออะไรล่ะ ร้องไห้สิ ร้องอยู่นั่น ร้องให้ตายไปข้าง ร้องจนตาปูดตาบวมมาทำงาน แต่เฮ้ย ! มันช่วยได้จริง เพราะเราว่าการระบายสิ่งที่อึดอัดใจออกมา สามารถช่วยให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลายจากความเครียด วิตกกังวล หรือความรู้สึกแย่ ๆ ในใจได้ จะแสดงทางการกระทำหรือคำพูดก็ได้ทั้งนั้นแหละ สไตล์ใครสไตล์มัน

เขียนทุกอย่างที่กำลังรู้สึก หรืออะไรก็ได้ที่ดีกับตัวเอง

แน่นอนว่าเราชอบเขียน แต่ไม่ใช่ให้เขียนงานหรือทำงานต่อนะ แต่ให้เขียนสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองลงไป เพื่อให้เราได้สำรวจตัวเองว่าเรากำลังเป็นอะไร รู้สึกอะไรอยู่ อยากให้ทุกอย่างเป็นไปในทิศทางไหน หรือจะไม่เขียนแต่เป็นวาดรูปก็ไม่ติด ส่วนใครจะเป็นเวย์อื่น เช่น ไปเที่ยว อ่านหนังสือ ก็ได้เหมือนกัน

ใจดักับตัวเองให้มาก ปรับความคิดตัวเองบ้างก็ดี

ข้อนี้ก็ยากสำหรับเราอีกนั่นแหละ แต่ทำไงได้ ถ้าไม่ทำก็ไม่มีทางดีขึ้น (สำหรับเรา)
เพราะฉะนั้นถ้าใจดีกับคนรอบข้าง ก็อย่าลืมหันมาใจดีกับตัวเองบ้าง อย่ากดดันตัวเองจนเกินไป ชีวิตมีอะไรให้ยิ้มกับมันอีกตั้งเยอะ (ถึงตรงนี้ก็เหมือนพิมพ์บอกตัวเองไปในตัว)

พยายามปรับความคิดที่ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะมีคนช่วย ความบังเอิญ ฯลฯ ให้เป็นมันคือความพยายาม และความสามารถของเราที่ตั้งใจทำ ไม่ว่าจะยังไงทุกอย่างนั้นออกมาดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้แล้ว ไม่ต้องไปเสียใจหรืออยากแก้ไขอะไรแล้ว

แต่ก็ไม่ใช่จะให้เปลี่ยนปุปปัป แต่เราจะค่อย ๆ เปลี่ยนจากวิธีการคิดเล็ก ๆ แล้วก็ชมตัวเองในใจเยอะ ๆ เช่น วันนี้มีคนเข้าอ่านงานเราเยอะขึ้น แสดงว่าเราเขียนได้ดีขึ้น ทำต่อไปดีกว่า อะไรแบบนี้

จิตแพทย์ช่วยได้

ไม่สบายก็ต้องหาหมอ อยากให้มองว่ามันเป็นเรื่องปกตินะอะไรแบบนี้ ซึ่งส่วนตัวเรารักษาโรคซึมเศร้าอยู่แล้วเลยมีโอกาสได้คุยกับคุณหมอบ่อย ๆ คุณหมอก็แนะนำทางออกในแบบที่เราเป็น ผสานกับการรักษาไปในตัว

ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนกำลังคิดว่าตัวเองเข้าข่ายหรือกำลังจะไม่ไหว เราอยากให้ไปปรึกษาคุณหมอ หรือนักจิตวิทยานะ เพราะบางทีปัญหาที่เราพยายามแก้มานาน อาจแก้ง่ายกว่าที่คิดก็ได้ จิตใจเราเราต้องดูแลให้ดี

“เราทำดีที่สุดแล้ว เราพยายามเต็มที่แล้ว
เราบอกตัวเองแบบนี้บ่อยขึ้น”

ถึงตรงนี้เราก็ยังกังวลอยู่ดีว่าสิ่งที่เขียนจะดีไหม แต่เอาเถอะอย่างน้อยก็ได้แชร์เรื่องจริงที่เจอมาตลอดให้ฟังในมุมของนักเขียนคนนึง

สุดท้ายนี้ขอให้เพื่อน ๆ มีจิตใจที่เข้มแข็ง ก้าวผ่านเรื่องแย่ ๆ ได้อย่างงดงาม ที่สำคัญอย่าลืมใจดีกับตัวเองเยอะ ๆ ล่ะ เราขอโอบกอดทุกคนผ่านบทความนี้นะ

❤️

สอบถามข้อมูลอื่นๆ หรือสิทธิพิเศษเพิ่มเติม

กรุณาสแกนคิวอาร์โค้ด หรือเพิ่มเพื่อนด้วยไอดีไลน์ @kaideeofficial