“เชื้อราแมว” ภัยร้ายจากแมวสู่คน รักษาและป้องกันอย่างไร?

“เชื้อราแมว” ภัยร้ายจากแมวสู่คน รักษาและป้องกันอย่างไร?

สรุปบทความ

ตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับ”เชื้อราแมว” ได้ครบจบได้ในบทความนี้ เพราะเรารวมเอาไว้ให้แล้วทั้งสาเหตุของการเกิดเชื้อราแมว การแก้ไขไม่ให้เกิดซ้ำ รวมถึงวิธีป้องกันให้ทาสทั้งหลายสบายใจได้แน่นอน

เชื่อว่าบรรดาทาสแมวทั้งหลาย น่าจะเคยประสบปัญหา “เชื้อราแมว” กับน้องเหมียวสุดที่รัก โดยเฉพาะแมวพันธุ์ทั้งหลายที่มีขนยาว มักจะมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ง่ายกว่าแมวไทยขนสั้น ในฐานะที่เราเองเคยรักษาแมวเป็นเชื้อรามาแล้ว บอกเลยว่าเป็นโรคที่รักษาไม่ยากขนาดนั้น เพียงแต่ใช้เวลานาน รวมถึงการดูแลที่เน้นความสม่ำเสมอ

ที่สำคัญ “เชื้อราแมว” ไม่ได้เป็นโรคที่ติดต่อเฉพาะแมวกับแมวด้วยกันเองเท่านั้น ยังติดต่อจากแมวสู่คนได้อีกด้วย นอกจากจะสังเกตอาการน้องแมวแล้ว ทาสอย่างเราต้องหมั่นสังเกตตัวเองด้วย ว่ามีอาการคันเป็นวงแดงๆ ในร่างกายตรงไหนหรือไม่ ถ้ามีก็ไม่ต้องแพนิคไปแต่อย่างใด

ทำความเข้าใจทั้งวิธีป้องกันและวิธีรักษาอย่างครบครันไปพร้อมๆ กัน ได้ที่บทความนี้

เชื้อราแมวคืออะไร

เชื้อราแมวคืออะไร?

ก่อนจะไปถึงเรื่องอื่น เราขอเริ่มต้นกับเรื่องที่ “เชื้อราแมว” คืออะไรกันก่อน เพื่อความเข้าใจเบื้องต้น โดยโรคนี้เป็นหนึ่งในโรคผิวหนังของแมว ที่ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อราที่ชื่อว่า “Microsporum canis” ซึ่งอาศัยอยู่บนผิวหนังชั้นนอกของสัตว์ รวมถึงเล็บและเส้นขนของเจ้าเหมียว เนื่องด้วยเชื้อราประเภทนี้อาศัยเคราติน (Keratin) ที่อยู่ในนั้น เป็นแหล่งอาหารในการเจริญเติบโตนั่นเอง

นั่นหมายความว่า หากไม่ถูกสิ่งสภาวะแวดล้อมใดมากระตุ้น
เชื้อราแมวตัวนี้จะไม่ก่อให้เกิดโรคกับเด็กๆ ของเราแต่อย่างใด

ปัจจัยกระตุ้นเชื้อราแมวให้เกิดโรค

อย่างที่บอกไปว่าเจ้าเชื้อราตัวร้าย อาศัยอยู่กับน้องเหมียวเป็นทุนเดิม พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เชื้อราในแมวเติบโตได้อย่างยิ่งใหญ่ ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น เรารวบรวมไว้ให้แล้ว

  • ความชื้น ทุกครั้งหลังอาบน้ำ ควรเช็ดขนน้องแมวให้แห้งสนิท เพราะความชื้นเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เชื้อราเติบโตดีที่สุด (หากเลี้ยงหลายตัวไม่ควรใช้ผ้าเช็ดขนผืนเดียวกัน และพยายามอย่าอาบน้ำแมวบ่อยเกินไป เดือนละ 1-2 ครั้งก็เพียงพอ)
  • ฝุ่นละออง พยายามดูดฝุ่นบ่อยๆ เน้นเฉพาะจุดที่แมวอยู่บ่อยๆ เพื่อลดปริมาณเชื้อรา
  • ความสะอาด หมั่นซักของใช้น้องแมวอยู่เสมอ ทั้งเบาะนอน ของเล่นประเภทผ้า ฯลฯ เพื่อลดการสะสมเชื้อ

เมื่อเป็นเชื้อราแมวแล้ว เจ้าเหมียวมีอาการอย่างไร?

เมื่อเชื้อราแมวเติบโตกลายเป็นโรค สิ่งแรกที่ทาสทั้งหลายจะสังเกตได้ คืออาการ
ของน้องเหมียวจะเปลี่ยนไป ยิ่งบ้านไหนที่เลี้ยงแบบคลุกคลี เช้ากอดทีเย็นกอดที จะยิ่ง
สังเกตได้ง่าย โดยอาการที่เห็นชัดเด่นชัดสุดคือ “ความคัน” หากเริ่มเห็นบรรดาแมวๆ นอน
กลิ้งไปมาบนพื้นมากขึ้น นั่นให้เริ่มเอ๊ะ! แล้วเริ่มเช็กลิสต์กับเราเป็นข้อๆ ไปได้เลย

แมวเป็นเชื้อรา

1. คันและเป็นผื่นแดงตามผิวหนัง

เมื่อคุณสังเกตได้ว่าเจ้าสี่ขาของเรา เริ่มเกาเยอะขึ้นกว่าเดิม ทั้งยังเอาตัวไปถูสิ่งต่างๆ และนอนกลิ้งมากขึ้น ให้รีบเอานายท่านของเรามาพิจารณาอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะตามซอกแขนขา ที่มักเป็นจุดอับและเกิดเชื้อราในแมวขึ้นได้ง่าย ถ้าเจอวงแดงๆ ลักษณะเป็นผื่น ก็ไปข้อถัดไปได้เลยค่ะ

2. ขนร่วงเป็นวงกลมและขยายขึ้นเรื่อยๆ

ธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตทั่วไป เมื่อเรา “คัน” ก็ต้อง “เกา” เป็นเรื่องปกติใช่ไหมคะ? เจ้าเหมียวเองก็เช่นกัน เมื่อเชื้อราแมวรวมตัวกันได้เยอะ ความคันจึงบังเกิด แมวของเราก็เกาบริเวณนั้นอย่างหนักหน่วง ทำให้ขนส่วนนั้นค่อยๆ หลุดไปทีละหย่อม

ยิ่งถ้าแมวบ้านไหนไม่ได้ตัดเล็บ พิษสงของเชื้อราแมวจะทำให้น้องเหมียวเกาหนักจนเลือดออกเลยก็มี ที่สำคัญเมื่อแมวใช้เล็บเกาตรงจุดที่มีเชื้อรา แล้วไปเกาส่วนอื่นๆ ของร่างกายต่อ ก็ถือเป็นการแพร่เชื้อราได้อีกทางเช่นกัน ระวังตรงนี้ไว้ด้วยก็ดีค่ะ

3. เริ่มมีขุยและสะเก็ดรอบๆ วงกลม

เมื่อน้องแมวเกาไปได้สักระยะ จากผื่นแดง ขนร่วงเป็นหย่อมๆ เป็นวงเฟสถัดมาจะเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพของเชื้อราแมว แผลบริเวณนั้นจะเริ่มมีเป็นขุยขาวๆ เหมือนผิวหนังลอก ไปจนถึงขั้นตกสะเก็ดเลยทีเดียว

ทางที่ดีอย่าปล่อยอาการ “เชื้อราแมว” อยู่กับนายท่านของเรานานเกินไป เพื่อสุขภาพที่ดีของน้อง หมั่นสังเกตพฤติกรรมเขาให้ดี โดยเฉพาะบ้านไหนที่เลี้ยงแมวขนยาว อาจจะต้องขยันรื้อขนน้องดูหน่อยค่ะ เพราะเชื้อราพวกนี้ชอบซ่อนตัวอยู่ในมุมอับของร่างกายแมว

รู้หรือไม่? เชื้อราแมวติดคนได้เหมือนกัน

เชื้อราแมวไม่ได้อันตรายหรือติดต่อได้แค่กับแมวและแกงค์เหมียวๆ ด้วยกันเท่านั้น
โรคผิวหนังชนิดนี้ มีความแพร่กระจายเป็นวงกว้างได้มากกว่านั้น สปอร์ของเป็นเชื้อราแมว
สามารถติดต่อสู่คนได้ ยิ่งใครที่มีภูมิต้านทานต่ำ อายุน้อยหรืออายุเยอะ ยิ่งต้องระวังเรื่องนี้
เป็นพิเศษนะคะ

อาการของเชื้อราแมวในคน

ลักษณะของเชื้อราแมวที่พบในคน มีอาการไม่ต่างจากที่พบในแมวมากนัก แต่ขอบเขตที่เป็นของทาสจะชัดเจนกว่านายท่าน โดยรวมๆ จะเป็นจะมีอาการคันเป็นผื่นแดง เป็นขุยสีขาว ผิวหลังลอก เกิดได้ทั่วไปตามร่างกาย ได้ทั้งมือ เท้า ใบหน้า แขน ฯลฯ อยู่ที่ว่าเราจะรับเชื้อราจากแมวในส่วนไหน ดังนั้น พยายามล้างมือบ่อยๆ เวลาเล่นกับพวกเขา

ยิ่งถ้าปล่อยให้ผื่นดังกล่าวขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่รักษา ดีไม่ดีผื่นนั้นจะยิ่งลามไปทั่วร่างกายในเวลาอันรวดเร็ว ถึงแม้จะรักษาหายได้ในภายหลัง ก็จะทิ้งรอยดำไว้ตามผิวหนังคุณ ซึ่งส่วนนี้ใช้เวลาค่อนข้างนานทีเดียวค่ะ กว่าจะรักษารอยดังกล่าวให้หายไปเป็นปกติ ทางที่ดีรีบพบแพทย์ทั้งแมวและคนจะดีกว่า

อีกหนึ่งข้อควรระวังที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคผิวหนังในแมวชนิดนี้ คือ “สปอร์ของเชื้อราแมว” ที่ร่วงมาจากขนหรือผิวหนังเจ้าเหมียวนั้น มีชีวิตได้นานเป็นเดือนจนถึงปีเลยด้วยซ้ำ เพียงแค่คุณเผลอไปสัมผัสขนหรือผิวหนังแมว ก็อยู่ในข่ายเสี่ยงแล้ว เอาว่าบ้านที่เลี้ยงแมวก็ทำใจไว้เลย ว่ามีเชื้อราอย่างแน่นอน (หากไม่ได้ทำความสะอาดอย่างดี)

วิธีรักษาและป้องกันไม่ให้เกิด “เชื้อราแมว”

เชื้อราในแมว

เข้าสมาคมทาสแมวแล้ว อย่าคิดถึงแต่ความน่ารักสุดนุบนิบใจเท่านั้น ภาระและความรับผิดชอบต่างๆ ตามมาอีกเพียบ ยามน้องแมวเจ็บไข้ไม่สบาย เราก็ต้องดูแลพวกเขาอย่างดีที่สุด

ทันทีที่นายท่านของเราเป็นเชื้อราแมว ให้เรารีบพาไปพบสัตว์แพทย์ทันที ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะได้ยากินและยาทาฆ่าเชื้อมา ส่วนปริมาณมากน้อยนั้นตามแต่อาการและน้ำหนักตัวน้องแมวค่ะ โดยช่วงนี้อาจจะใช้เวลาสักระยะกว่าเชื้อจะหมดไป ระหว่างนั้นให้เราทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ ล้าง ซักของใช้ทั้งของเราและของแมวให้หมด แล้วอย่าลืมตากแดดให้แห้ง

ส่วนบ้านไหนที่เลี้ยงแมวมากกว่าหนึ่งตัว อาจจะยุ่งหน่อย ต้องรีบแยกน้องๆ ออกจากกันทันที ทางที่ดีให้อยู่คนละห้องไปเลย เพราะมีเปอร์เซ็นจะแพร่ต่อกันง่านมาก ส่วนตัวเจ้าของเองก็ลดการคลุกคลีและสัมผัสน้องแมวที่เป็นเชื้อราให้น้อยลง ป้องกันการติดเชื้อราแมวในคน

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อราแมว

้ป้องกันเชื้อราแมว
  1. ดูแลความสะอาดบ้านที่สัตว์เลี้ยงคลุกคลี รวมถึงดูแลความสะอาดข้าวของน้องแมวอยู่เสมอ
  2. ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อรา Biocan M ที่เกิดจากเชื้อ Microsporum canis ซึ่งฉีดได้ตั้งแต่น้องแมวอายุ 2 เดือนขึ้นไป ควรฉีดกระตุ้น 3 เข็ม และฉีดสม่ำเสมอทุก 1 ปี
  3. ทำความสะอาดขนและดูแลให้ขนพวกเขาแห้งอยู่เสมอ
  4. ใช้แชมพูที่มีคุณสมบัติกำจัดเชื้อรา
  5. พยายามล้างมือตัวเองให้บ่อย หลังจากเล่นกับน้องแมว

อย่าชะล่าใจกับเชื้อราแมว

มาถึงเรื่องสุดท้ายที่เราอยากฝากทาสทั้งหลายเอาไว้

“เชื้อราแมว” ไม่ใช่เรื่องเล็กที่คุณจะมองข้าม อันตรายทั้งต่อน้องแมวและตัวคุณเอง ควรรีบพาน้องเหมียวไปหาหมอให้เร็วที่สุด ความทรมานกายของเขา คือความทรมานใจของเรา อย่าลืมว่า สัตว์เลี้ยงเขาพูดในสิ่งที่ต้องการไม่ได้ เราเองในฐานะคนเลี้ยง ควรสังเกตเขาด้วยความรักอยู่เสมอ

อย่าปล่อยให้โรคเชื้อราทางผิวหนังวงเล็กๆ ลามไปเป็นวงใหญ่ จนเสียเวลานานขึ้นกับการรักษา พาพวกเขาไปพบหมอตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงการหาของเล่นดีๆ และอาหารคุณภาพเยี่ยม เพื่อสุขภาพกายและใจที่ดี ทั้งของทาสไปจนถึงน้องแมวที่คุณรัก

สอบถามข้อมูลอื่นๆ หรือสิทธิพิเศษเพิ่มเติม

กรุณาสแกนคิวอาร์โค้ด หรือเพิ่มเพื่อนด้วยไอดีไลน์ @kaideeofficial