บ้านแฝด ทางเลือกใหม่ที่อยู่อาศัยในราคาที่เอื้อมถึง

บ้านแฝด ทางเลือกใหม่ที่อยู่อาศัยในราคาที่เอื้อมถึง

บ้านแฝด คือทางเลือกใหม่ของที่อยู่อาศัยในยุคปัจจุบัน ที่ตอบโจทย์ด้านฟังก์ชันใช้สอยและความเป็นส่วนตัวได้แทบไม่แตกต่างจากบ้านเดี่ยว ในขณะที่ราคาซื้อขายอยู่ในระดับใกล้เคียงกับทาวน์เฮ้าส์หรือทาวน์โฮม ซึ่งเป็นราคาที่เอื้อมถึงได้ง่ายเช่นเดียวกัน นอกจากนี้บ้านแฝดยังได้เปรียบคอนโดมิเนียมขนาดครอบครัว (ห้องชุดขนาด 2-3 ห้องนอน) ทั้งในแง่ของราคาและพื้นที่ใช้สอยโดยรวมอีกด้วย 

บ้านแฝดในมุมมองของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นการขยาย Segment เพื่อเติมเต็มช่องว่างในกลุ่มลูกค้าโครงการแนวราบที่ต้องการบ้านเดี่ยวในราคาที่ไม่สูงเกินไป โดยเฉพาะในกลุ่มคนโสดที่ไม่ได้อยู่คนเดียว คู่แต่งงานที่ไม่มีลูก หรือครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ล้วนต้องการเลือกซื้อบ้านที่มีสเปซส่วนตัวมากกว่าคอนโดมิเนียมใจกลางเมือง รวมถึงสาเหตุหลักๆ ด้านการจัดสรรที่ดินและการก่อสร้างซึ่งบ้านแฝดสามารถทำราคาต้นทุนได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับการสร้างบ้านเดี่ยว

ลักษณะบ้านแฝดโดยทั่วไปจะใช้ผนังด้านหนึ่งร่วมกัน และมีระยะห่างจากรั้ว 3 ด้าน 
ขอบคุณภาพจากโครงการ ชวนชื่น โมดัส วิภาวดี

บ้านแฝด บ้านเดี่ยว ใครเป็นใครต้องแยกให้ออก 

ทุกวันนี้บ้านแฝดถูกออกแบบให้มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม มีการพัฒนาตัวบ้านด้วยสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ จัดสเปซที่ให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัว จนบางครั้งเราแทบแยกไม่ออกว่าโครงการที่เข้าไปเยี่ยมชมนั้นเป็นบ้านแฝดหรือบ้านเดี่ยวกันแน่ 

ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของเจ้าของโครงการก็ตาม เพื่อป้องกันการถูกย้อมแมวซื้อบ้านแฝดในราคาบ้านเดี่ยว ผู้บริโภคอย่างเราๆ จึงควรรู้สาระสำคัญของอาคารที่อยู่อาศัยทั้งสองประเภทนี้ เนื่องจากกฏหมายระบุชัดเจนว่า ผู้บริโภคควรเลือกบ้านที่มีการก่อสร้างและใช้อาคารตามที่กฎหมายกำหนด หากซื้อบ้านเพียงเพราะราคาถูกแต่ผิดกฏหมาย เราในฐานะผู้ซื้ออาจถูกดำเนินคดีและรื้อถอนภายหลังได้ แม้ว่าจะไม่ใช่ผู้ขออนุญาตปลูกสร้างก็ตาม 

สำหรับความหมายของบ้านแฝดตามที่ปรากฏใน “กฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522” คือ

บ้านแฝด หมายความว่า อาคารที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยก่อสร้างติดต่อกันสองบ้าน มีผนังแบ่งอาคารเป็นบ้าน มีที่ว่างระหว่างรั้วหรือแนวเขตที่ดินกับอาคารด้านหน้า (กว้างไม่น้อยกว่า 3 เมตร) ด้านหลัง (กว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตร) และด้านข้าง (กว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตร) ของแต่ละบ้าน และมีทางเข้าออกของแต่ละบ้านแยกจากกันเป็นสัดส่วน ต้องมีบันได ผนังและโครงสร้างหลัก ประกอบด้วยวัสดุถาวรหรือวัสดุทนไฟเป็นส่วนใหญ่

นอกจากนี้ยังมีพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดินกำกับความแตกต่างระหว่างบ้านแฝดและบ้านเดี่ยว กล่าวคือ 

ที่ดินของบ้านแฝดแต่ละแปลงต้องมีความกว้างไม่ต่ำกว่า 8 เมตร  และมีเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 35 ตารางวา ส่วนแปลงที่ดินบ้านเดี่ยวต้องมีความกว้างและความยาวไม่ต่ำกว่า 10 เมตร มีเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 50 เมตร หากความกว้างหรือยาวไม่ได้ขนาดดังกล่าว ต้องมีเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 60 ตารางวา ตัวอาคารต้องห่างจากเขตที่ดินทุกด้านไม่ต่ำกว่า 2 เมตร

แบบบ้านแฝดสมัยใหม่ ไม่จำเป็นต้องมีดีไซน์หน้าตาบ้านเหมือนกัน แต่ยังมีฟังก์ชันบางส่วนของบ้านที่แชร์กันอยู่
ขอบคุณภาพจากโครงการ อณาสิริ รังสิต-คลอง 2

บ้านแฝดเทียม นิยามบ้านแฝดดีไซน์ใหม่

นอกจากการสร้างบ้านแฝดที่ใช้ผนังด้านใดด้านหนึ่งร่วมกันตามที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ระบุไว้แล้ว ปัจจุบันยังพบว่ามีการก่อสร้างบ้านแฝดโดยใช้ส่วนเชื่อมต่อระหว่างบ้านแต่ละหลังด้วยวิธีการที่ต่างออกไป และนั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า “บ้านแฝดเทียม” หรือบ้านแฝดสมัยใหม่ที่มีลูกเล่นด้านดีไซน์ที่ทำให้บ้านแต่ละหลังดูคล้ายเป็นอิสระจากกัน และให้ความเป็นส่วนตัวราวกับบ้านเดี่ยวมากยิ่งขึ้น 

ลักษณะของบ้านแฝดเทียมหรือบ้านแฝดดีไซน์ใหม่มี 2 รูปแบบเด่นๆ ดังนี้

บ้านแฝดที่ฟังก์ชันบางส่วนของบ้านใช้ร่วมกัน

เป็นการออกแบบให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของบ้านติดกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นฟังก์ชันในส่วนที่เป็นเซอร์วิส เช่น ใช้ผนังห้องครัวหรือห้องน้ำชั้นร่วมกัน ใช้คานหลังคาโรงจอดรถเป็นส่วนที่เชื่อมต่อกันระหว่างบ้านสองหลัง ซึ่งส่วนใหญ่ฟังก์ชั่นที่เชื่อมต่อมักอยู่ชั้นล่าง จึงทำให้พื้นที่บนชั้นสองได้ความรู้สึกเหมือนบ้านเดี่ยวจริงๆ 

บ้านแฝดที่มีคานใต้ดินเชื่อมต่อกัน

โครงสร้างของบ้านแฝดแบบนี้ทำให้เราแยกไม่ออกเลยว่าบ้านนั้นเป็นบ้านแฝดหรือบ้านเดี่ยว เพราะใช้วิธีเชื่อมต่อโครงสร้างด้วยคานใต้ดินในส่วนที่เป็นพื้นที่จอดรถ พื้นที่ซักล้าง หรือรั้วบ้าน ส่งผลให้ผนังบ้านที่อยู่เหนือพื้นดินทั้งสี่ด้านมีระยะห่างจากรั้วและไม่ติดกับบ้านข้างๆ เหมือนอย่างบ้านแฝดชนิดอื่นๆ 

แม้เทคนิคการก่อสร้างบ้านแฝดเทียมนี้จะสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับบ้านแฝดที่ดูทันสมัย และไม่จำเจเหมือนที่ผ่านมา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ารูปแบบบ้านที่ละม้ายคล้ายคลึงกับบ้านเดี่ยวมากๆ นี้ อาจสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้บริโภคที่ไม่ได้ศึกษาหาข้อมูลก่อนได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ในฐานะผู้บริโภคจึงต้องตรวจสอบรายละเอียดของบ้านจากผู้ขายอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะเรื่องของขนาดและหน้ากว้างของผืนที่ดิน หากพบว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินที่จะได้รับมีเพียง 35-49.9 ตารางวา ก็ถือว่าเราได้ซื้อบ้านแฝดมิใช่บ้านเดี่ยวอย่างภาพบ้านที่เห็นอยู่ตรงหน้า

ฟังก์ชันของบ้านแฝดมีความครบครันเทียบเท่าบ้านเดี่ยว 
ขอบคุณภาพจากโครงการ The Sonne ศรีนครินทร์-บางนา

ข้อดีบ้านแฝดที่ใครๆ ก็ยกนิ้วให้

เมื่อเปรียบเทียบบ้านแฝดกับที่อยู่อาศัยประเภทอื่นๆ เราจะพบข้อดีที่เป็นเหตุผลให้ใครหลายๆ คนยกให้บ้านแฝดเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งในใจ อาทิ 

  • เปรียบเทียบกับบ้านเดี่ยว : บ้านแฝดได้ฟังก์ชันการใช้งานหลักครบเหมือนบ้านเดี่ยว (ขนาดของแต่ละโซนอาจเล็กกว่าบ้านเดี่ยว) เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว ห้องน้ำ และที่จอดรถ แต่จ่ายในราคาที่ถูกกว่า 
  • เปรียบเทียบกับทาวน์เฮ้าส์ : บ้านแฝดมีผนังด้านข้างที่ไม่ติดกับใคร จึงเปิดเป็นช่องแสงได้ทำให้พื้นที่ภายในบ้านโปร่งสบายกว่าทาวน์เฮ้าส์
  • เปรียบเทียบกับคอนโดมิเนียม : หากพิจารณาขนาดพื้นที่ใช้สอยที่เท่ากัน ราคาขายบ้านแฝดจะถูกกว่าคอนโดมิเนียมเกือบ 3 เท่าตัว จึงใช้เงินดาวน์น้อยกว่า และนั่นหมายถึงระยะเวลาที่เก็บออมเงินดาวน์และระยะเวลาการผ่อนเพื่อซื้อบ้านแฝดก็จะสั้นกว่าการซื้อคอนโดด้วย

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาของสำนักวิจัย Krungthai Compass ธนาคารกรุงไทยเพื่อชี้ให้เห็นว่าการซื้อบ้านแฝดที่อยู่ห่างจากแนวรถไฟฟ้าราว 10 กิโลเมตร นั้นคุ้มค่าและประหยัดกว่าการซื้อคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้าในระยะยาว 

โดยทำการสำรวจโครงการบ้านแฝดในทำเลไม่ห่างกับรถไฟฟ้าจำนวน 14 โครงการ ใน 4 ทำเล ประกอบด้วยบางบัวทอง, พระราม 2-เพชรเกษม, รามอินทรา มีนบุรี-หนองจอก และรังสิต-ปทุมธานี พบว่าโดยเฉลี่ยระยะเวลาเดินทางไป-กลับจากโครงการไปยังรถไฟฟ้าในช่วงเวลาเร่งด่วน (07.00 และ 17.00 น.) จะใช้เวลาประมาณ 30 นาทีต่อวัน หากเดินทางด้วยรถแท็กซี่จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 230 บาทต่อวัน หรือประมาณ 50,400 บาทต่อปี ในขณะที่การเดินทางจากคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้าในระยะ 200-750 เมตร จะใช้เวลาเดินเท้าไม่เกิน 10 นาทีต่อวันและอาจไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาร่วมกับราคาขายเฉลี่ยในทำเลข้างต้นของบ้านแฝดขนาด 100 ตารางเมตร จะอยู่ที่ 2.5 ล้านบาท ส่วนคอนโดมิเนียมขนาด 50 ตารางเมตร มีราคาขายเฉลี่ยเท่ากับ 4 ล้านบาท หรือสูงกว่าบ้านแฝดถึง 40 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 1.5 ล้านบาท ซึ่งหากเรานำส่วนต่างราคาบ้านแฝดที่ถูกกว่าคอนโดตรงนี้มาชดเชยเป็นค่าเดินทางไปกลับยังรถไฟฟ้าจะสามารถใช้ได้ถึง 27 ปี 

ดังนั้น การเลือกซื้อบ้านแฝดจึงเป็นการลงทุนที่น่าสนใจ เพราะนอกจากพื้นที่ใช้สอยที่มากขึ้นกว่าคอนโดมิเนียมเท่าตัวแล้ว ในอนาคตยังมีโอกาสเพิ่มมูลค่าจากที่ดินตามการขยายตัวของเมืองได้อีกด้วย 

ภาพบางมุมของบ้านแฝดที่มองผิวเผินดูคล้ายบ้านเดี่ยว
ขอบคุณภาพจาก ศุภาลัย วิลล์ บางนา-ศรีนครินทร์

สรุปแล้วบ้านแฝดคือทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ

แวดวงธุรกิจอสังริมทรัพย์ส่วนใหญ่คาดการณ์กันว่า ในปี 2564 โครงการแนวราบจะเป็นไฮไลท์สำคัญที่ขับเคลื่อนตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทย โดยเฉพาะการพัฒนาที่ดินรอบนอกของกรุงเทพฯ ซึ่งโครงการบ้านแฝดก็เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์สำคัญที่จะสร้างส่วนแบ่งการตลาดและทำกำไรให้กับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งรายเล็กและรายใหญ่

ในขณะที่ผู้บริโภคก็จะมีทางเลือกในกลุ่มบ้านแฝดเพิ่มขึ้น ภายใต้รูปลักษณ์ที่ทันสมัย ฟังก์ชันใช้สอยระดับเดียวกับบ้านเดี่ยว และเรทราคาที่เอื้อมถึง จนสามารถสานฝันใครหลายๆ คนที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเองได้สมใจ

สอบถามข้อมูลอื่นๆ หรือสิทธิพิเศษเพิ่มเติม

กรุณาสแกนคิวอาร์โค้ด หรือเพิ่มเพื่อนด้วยไอดีไลน์ @kaideeofficial