การทำความสะอาดบ้านเป็นกิจวัตรที่เราต้องทำกันประจำอยู่แล้ว แต่สำหรับครอบครัวลูกหลานคนจีนอย่างฉันยังมีมหกรรมทำความสะอาดครั้งใหญ่ที่เรียกกันติดปากว่า “ล้างบ้าน” ซึ่งต้องทำให้เสร็จก่อนวันตรุษจีนจะมาถึง
“ล้างบ้าน” ทำไม?
ย้อนไปสมัยเด็ก ทุกๆ ปีก่อนถึงวันตรุษจีน ฉันเห็นแม่และพี่เลี้ยงวุ่นวายกับการทำความสะอาดแบบทุกซอกทุกมุมจริงๆ เห็นหยากไย่ตรงไหนต้องจัดการให้หมด ขนาดตู้กับข้าวทำจากไม้ใบใหญ่ ยังถูกขนออกมานอกบ้านเพื่อฉีดน้ำล้างและตากแดดรอแห้งกว่าครึ่งค่อนวัน
พอโตในระดับที่เรียกใช้งานรู้เรื่อง ฉันถูกเกณฑ์มาเป็นแรงงานช่วยล้างบ้านพร้อมกับพี่ๆ ด้วย ฉันทำตั้งแต่เช็ดตู้โชว์ ขัดสีฉวีวรรณมุ้งลวด ถอดใบพัดลมมาล้าง ปีนเก้าอี้เพื่อเช็ดบานเกล็ดหน้าต่างทีละบาน ไปจนถึงทำความสะอาดศาลเจ้าในบ้าน (เรียกว่า ‘ตี่จู้เอี๊ยะ’) เปลี่ยนทรายในกระถางธูป เป็นต้น

“ทำไมต้องล้างบ้านด้วยล่ะ?” ฉันเคยถามแม่
“เราเรียกว่า ‘ไฉ่ทุ้ง’ หมายถึงทำบ้านให้สะอาด ปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไป และเตรียมต้อนรับความโชคดีที่จะเข้ามาในปีใหม่” แม่บอกแบบนั้น ซึ่งก็ตรงกับคำบอกเล่าของเพื่อนๆ ที่เกิดในครอบครัวคนจีนเหมือนกัน
จนเมื่อไม่นานมานี้ ฉันคุยกับเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งถึงประสบการณ์การล้างบ้าน ปรากฏว่าเขาแชร์ประเด็นหนึ่งได้อย่างน่าสนใจ
“สมัยก่อนคนจีนทำงานหนัก ปีทั้งปีเอาแต่ทำงาน ไม่มีเวลามานั่งกวาดบ้านถูกบ้านทุกวันหรอก แถมสมัยนั้นไม่มีคนรับใช้หรือบริษัทรับจ้างทำความสะอาดเหมือนปัจจุบัน พอถึงตรุษจีนทีจึงมีกุศโลบายให้ Big Cleaning สักครั้ง และพอลงมือเก็บบ้าน ถึงได้รู้ว่าไอ้นู้นพัง ไอ้นี่ใช้ไม่ได้แล้ว ครั้นจะนิ่งดูดายปล่อยของพังๆ เหล่านั้นตามยถากรรมก็ใช่เรื่อง เลยหยิบขึ้นมาซ่อม ขึ้นมาเช็คให้รู้ว่ายังใช้ได้ หรือถ้าอันไหนเกินกำลังซ่อมจริงๆ ก็ทิ้งไปเสียจะได้ไม่เปลืองพื้นที่ในบ้านอีก”
เพื่อนรุ่นพี่ยังเล่าต่อว่า โดยธรรมเนียมวันตรุษจีน ผู้น้อย (คนที่อายุน้อยกว่าหรือลูกๆ หลานๆ) ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในเมืองจะเดินทางมาสวัสดีปีใหม่ผู้อาวุโสกว่า (เหมือนคนไทยกลับบ้านช่วงสงกรานต์) การเคลียร์บ้านให้เรียบร้อยจึงเหมือนเป็นการต้อนรับลูกหลานกลับบ้านนั่นเอง
คลีนบ้าน เคลียร์ของ ตอนไหน?
จำได้ว่าตอนเด็กๆ แม่จะเรียกฉันและพี่มาช่วยล้างบ้านก่อนตรุษจีนประมาณหนึ่งอาทิตย์ หรือเอาให้ชัวร์คือหลังจากพิธีไหว้ส่งเจ้าขึ้นสวรรค์แล้ว (ตามปฏิทินจันทรคติวันไหว้ส่งเจ้าขึ้นสวรรค์คือ วันที่ 24 หรือวันที่ 25 เดือน 12 ขึ้นอยู่กับจำนวนวันในเดือนนั้น ปีนี้ตรงกับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564) ซึ่งเป็นหนึ่งความเชื่อประจำเทศกาลตรุษจีนว่า ในวันนี้เทพเจ้าทั้งหลายจะเสด็จขึ้นสู่สรวงสวรรค์เพื่อไปรายงานความประพฤติของทุกคนในบ้านให้เง็กเซียนฮ่องเต้ได้ทราบ
แม่เล่าว่าที่ต้องทำความสะอาดหลังวันส่งเจ้าขึ้นสวรรค์ เพราะจะได้ไม่รบกวนหรือลบหลู่เจ้าที่เจ้าทาง เนื่องจากการคลีนบ้านให้หมดจด รวมทั้งทำความสะอาดศาลเจ้าที่ตั้งอยู่ในบ้านแบบทำครั้งเดียวในรอบปี จำเป็นต้องใช้ไม้กวาดซึ่งถูกมองว่าเป็นของที่อยู่ต่ำ มาปัดหยากไย่บนเพดานที่อยู่สูง (สูงกว่าศาลเจ้าที่) นั้นเป็นการไม่เหมาะสม
หลังจากเทพเจ้าขึ้นสวรรค์แล้ว เรามีเวลาราวๆ 5-6 วัน ช่วยกันทำความสะอาดให้เรียบร้อย หรือเลทสุดคือต้องเสร็จก่อนวันตรุษจีนมาถึง เพราะเชื่อกันว่าเทพเจ้าจะเสด็จกลับสู่โลกมนุษย์อีกครั้งในวันตรุษจีน ฉะนั้นจะมากวาดมาถูอีกก็ไม่ได้แล้ว และคนจีนยังมีความเชื่อกันว่า หากใครจับไม้กวาดในวันตรุษจีนจะต้องทำงานทั้งปี หรือทำให้โชคลาภหลุดลอยไปอีกด้วย
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน บวกกับภาระหน้าที่ที่เพิ่มขึ้น มหกรรมล้างบ้านของฉันก็ไม่ได้เจาะจงรอหลังวันส่งเจ้าขึ้นสวรรค์อีก แต่อาศัยทำเรื่อยๆ ตั้งแต่เนิ่นๆ และจากการสอบถามเพื่อนๆ ที่ต้นตระกูลมาจากแผ่นดินใหญ่เหมือนกันก็พบว่าพวกเขาค่อยๆ ทยอยทำเช่นกัน และอะลุ่มอล่วยกับการล้างบ้านแบบ “ทำเท่าที่ทำได้” แทน ในขณะที่อีกหลายบ้านไม่ได้ยึดถือประเพณีนี้แล้ว ด้วยเหตุผลด้านความสะดวก และบางบ้านถือว่าตัวเองทำความสะอาดเป็นประจำอยู่แล้ว

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยล้างบ้านเสร็จไวขึ้น
การทำความสะอาดบ้านโดยทั่วไป มักอยู่ในขอบเขตพื้นที่ที่ใช้งานประจำ แต่สำหรับการล้างบ้านคืองานสเกลใหญ่ขึ้น ต้องไล่เช็ด ไล่กวาดกันแบบทุกซอกทุกมุม ซึ่งการเคลียร์ให้สะอาดและเสร็จไวนั้น ฉันมี 5 ประสบการณ์ตรงมาฝาก ดังนี้
- ทำความสะอาดจากบนลงล่าง และจากข้างในไปสู่ข้างนอก
เป็นการจัดลำดับการทำความสะอาดที่ช่วยให้งานเสร็จไวขึ้น เช่น เริ่มทำความสะอาดจากชั้นบนไล่ลงชั้นล่าง เรื่อยออกไปถึงรั้วบ้าน , กวาดหยากไย่บนเพดาน เช็ดหน้าต่าง และค่อยกวาดพื้น , คลีนของในตู้ให้เป็นระเบียบก่อนเช็ดตู้ภายนอก , เริ่มทำความสะอาดจากห้องนอนที่เป็นพื้นที่ส่วนตัวสู่ห้องนั่งเล่นที่เป็นพื้นที่ส่วนรวม เป็นต้น
- จัดการวัสดุที่เก็บฝุ่นให้เรียบ
ไม่ว่าจะเป็นผ้าม่าน มุ้งลวด พรม ปลอกหมอน ฯลฯ ควรแยกออกมาทำความสะอาดก่อน โดยดูดฝุ่นนำไปซัก และตากแดดฆ่าเชื้อ ซึ่งในระหว่างรอของเหล่านั้นแห้ง เราสามารถทำความสะอาดจุดอื่นได้โดยไม่เสียเวลา
- ใช้เทคนิคจัดระเบียบของ Marie Kondo ช่วยได้จริงๆ
- เตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดให้เหมาะกับงาน
เช่น ใช้แปรงเช็ดกระจกแทนกระดาษหนังสือพิมพ์จะช่วยให้งานเสร็จเร็วขึ้น ใช้เครื่องดูดฝุ่นแทนไม้กวาดเมื่อต้องจัดการตามซอกเล็กๆ เลือกน้ำยาทำความสะอาดให้เหมาะกับพื้นผิว เป็นต้น
- นัดสมาชิกในบ้านมาทำความสะอาดพร้อมกัน
เพื่อให้แต่ละคนได้เคลียร์ของของตัวเองให้เรียบร้อย โดยไม่ต้องกังวลว่าใครจะเผลอทำของเราเสียหาย นอกจากนี้การที่หลายแรงร่วมด้วยช่วยกันย่อมทำให้งานเสร็จเร็วอย่างแน่นอน
บทสรุปท้ายบทความ
กิจกรรมล้างบ้านต้อนรับตรุษจีน สำหรับฉันยังคงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ต้องทำต่อไป ไม่ใช่แค่ทำตามความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมาเนิ่นนาน แต่คือการสร้างสุขภาวะที่ดีให้ทุกคนในครอบครัวซึ่งเป็นพื้นฐานที่ทุกบ้านพึงกระทำ เหนืออื่นใดคือการได้กลับมาทบทวนตัวเองผ่านสิ่งของและเรื่องราวต่างๆ ว่าแท้จริงแล้ว สิ่งไหน “จำเป็นหรือไม่จำเป็น” สิ่งไหนควร “เก็บหรือทิ้ง” เพื่อให้ชีวิตเบาขึ้นในทุกๆ ปีที่ผ่านไป