Prefabrication นวัตกรรมสร้างบ้านเสร็จไวเว่อร์

Property Specialist

Prefabrication นวัตกรรมสร้างบ้านเสร็จไวเว่อร์

สรุปบทความ

Prefabrication หรือการก่อสร้างด้วยชิ้นส่วนสำเร็จรูปเป็นนวัตกรรมที่ทำให้งานสถาปัตยกรรมและวงการอสังหาริมทรัพย์ก้าวข้ามขีดจำกัดในหลายด้าน โดยเฉพาะการสร้างอาคารบ้านเรือนให้แล้วเสร็จรวดเร็วจนทันต่อความต้องการของผู้อยู่อาศัยในยุคปัจจุบัน

สังเกตไหมว่า งานก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ช่วงสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะโครงการหมู่บ้านหรือคอนโดมิเนียมใจกลางเมืองนั้นเผลอแป๊บๆ ก็กลายเป็นอาคารบ้านเรือนพร้อมอยู่ซะแล้ว ผิดกับเมื่ออดีตที่กว่าบ้านแต่ละหลังจะสร้างเสร็จต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6-8 เดือน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะมีการนำนวัตกรรมที่เรียกว่า “Prefabrication” เข้ามาช่วย ซึ่งปัจจุบันมีความล้ำหน้าไปอย่างมากจนทำให้งานออกแบบทางสถาปัตยกรรมขยายขีดจำกัดทั้งในมิติของรูปทรง (Form) และการใช้งาน (Function)

Conventional Construction VS Prefabricated Construction 

กระบวนการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนที่ดำเนินการอยู่ทุกวันนี้ ประกอบด้วย 2 ระบบใหญ่ๆ คือ 

Conventional Construction 

เป็นระบบการก่อสร้างดั้งเดิมที่ยังคงเห็นได้ทั่วไปในไซต์ก่อสร้างขนาดเล็ก เช่น บ้านพักอาศัยส่วนตัว อพาร์ทเม้นท์ หรือตึกแถว มีลักษณะการทำโครงสร้างอาคารแบบหล่อในพื้นที่ กล่าวคือประกอบไม้แบบ ผูกเหล็ก แล้วจึงเทคอนกรีตสร้างเป็นเสา คาน และพื้น รวมไปถึงก่อผนังด้วยอิฐแล้วฉาบปูนทับอีกครั้ง เราอาจเรียกระบบนี้อีกอย่างว่าเป็นการก่อสร้างระบบเปียก

conventional consrtuction
การก่อสร้างแบบดั้งเดิม ต้องอาศัยระยะเวลา และแรงงานฝีมือจำนวนมาก

Prefabricated Construction 

เรียกสั้นๆ ว่า Prefab คือรูปแบบการก่อสร้างโดยนำชิ้นส่วนสำเร็จรูป เช่น เสา คาน ผนัง บันได หรือโครงหลังคาที่ผลิตจากโรงงานเรียบร้อยแล้วมาประกอบให้เป็นรูปร่างที่ไซต์ก่อสร้าง โดยชิ้นส่วนแต่ละชิ้นถูกกำหนดให้ติดตั้งในตำแหน่งของตัวเองลักษณะคล้ายการต่อจิ๊กซอว์หรือเลโก้ แต่จะเพิ่มความมั่นคงด้วย Joint ในลักษณะต่างๆ เพื่อเชื่อมต่อทุกส่วนเข้าไว้ด้วยกันจนเป็นอาคารที่สมบูรณ์

prefabrication
ชิ้นส่วนสำเร็จรูปถูกนำมาประกอบที่ไซต์งาน

วัสดุที่นำมาทำชิ้นส่วนก่อสร้างสำเร็จรูปในระบบ Prefab มีตั้งแต่ไม้ เหล็ก และคอนกรีต โดยมีเทคนิคการผลิตชิ้นงานสำเร็จแตกต่างกันไป อาทิ 

  • Precast Concrete แผ่นหล่อคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูป นิยมใช้กับงานผนังหรือที่เรียกว่าโครงสร้างผนังรับน้ำหนัก (Wall Bearing System) ทำให้ไม่ต้องอาศัยโครงสร้างจากเสาและคานอีก การหล่อผนังคอนกรีตประเภทนี้จะกำหนดตำแหน่งและเจาะช่องเปิดประตู-หน้าต่าง ช่องสำหรับท่อร้อยสายไฟฟ้า ท่อน้ำดี ท่อน้ำเสียไว้เรียบร้อยแล้ว จึงลดขั้นตอนการทำงานที่ไซต์ก่อสร้างได้อย่างดี ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบมากที่สุดในวงการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ของเมืองไทย  
  • Prestressed Concrete แผ่นคอนกรีตอัดแรงแบบ Pre-Tension ซึ่งใช้การดึงลวดอัดแรงและบ่มคอนกรีตจนเกิดความแข็งแรง เทคนิคนี้มักใช้กับการทำเสาเข็ม คาน ผนังภายนอก พื้นสำเร็จรูป รวมไปถึงงานสร้างสะพานและถนนด้วย  
  • Framing Walls เป็นการใช้โครงคร่าวไม้หรือเหล็กมาประกอบเป็นโครงสร้างถัก (Truss) แล้วปิดทับแผ่นไม้กระดาน (เช่น OSB Broad) หรือแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ทั้งสองฝั่ง จนมีลักษณะเป็นผนังสำเร็จรูป เมื่อไปถึงหน้างานจะนำผนังแต่ละผืนเชื่อมต่อด้วยโลหะประกอบเข้ากันเป็นห้องหรืออาคาร
  • Modular เป็นเทคนิคการสร้างชิ้นส่วนสำเร็จรูปแบบโครงสร้าง 3 มิติ หรือมีลักษณะเป็นกล่องที่มีทั้งผนัง พื้น และเพดาน และบางครั้งยังอาจตกแต่งภายในให้พร้อมใช้งานอีกด้วย ในการติดตั้งจะใช้เครนช่วยยกโครงสร้างทั้งยูนิตไปประกอบรวมกันจนเป็นอาคารที่สมบูรณ์

มีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการก่อสร้างดั้งเดิมและการก่อสร้างจากชิ้นส่วนสำเร็จรูปพบว่าระบบ Prefab มีข้อได้เปรียบอยู่มากทั้งในแง่ของระยะเวลาก่อสร้างที่เสร็จเร็วกว่า ต้นทุนรวมประหยัดกว่า และใช้แรงงานน้อยกว่า ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ว่ากลุ่มอาคารที่พักอาศัยแนวราบ เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ ที่ใช้การก่อสร้างด้วยระบบ Prefab สามารถทำให้ต้นทุนรวมของโครงการก่อสร้างลดลงเฉลี่ย 15% ต่อโครงการ ใช้ระยะเวลาก่อสร้างเร็วขึ้นประมาณ 30% และลดการใช้แรงงานได้อีกถึง 50% 

เปรียบเทียบระยะเวลาก่อสร้างระหว่าง Conventional Construction และ Prefabricated Construction

นอกจากนี้งานวิจัยของ University of New South Wales ในออสเตรเลียยังพบว่าระบบ Prefabrication นั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าโดยมีอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่าระบบ Conventional Construction ถึง 19%

Prefabrication กับการพัฒนาอสังหาฯ เมืองไทย

หากย้อนดูประวัติการก่อสร้างด้วยชิ้นส่วนสำเร็จรูปในประเทศไทย จะพบว่าการสร้างหรือปรุงเรือนไทยก็เป็นรูปแบบหนึ่งของระบบ Prefabrication เนื่องจากผนังไม้หรือหน้าจั่วหลังคาที่นำมาติดตั้งถูกประกอบมาจากที่อื่นแล้ว แต่ถ้ามองในแง่อุตสาหกรรมการก่อสร้างขนาดใหญ่ นวัตกรรม Prefab คือจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เข้ามาตอบโจทย์การทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

พฤกษา เรียลเอสเตท เป็นบริษัทไทยรายแรกๆ ที่นำวัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปอย่าง Precast Concrete เข้ามาใช้ก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรร โดยลงทุนซื้อ Know-How จากเยอรมันเพื่อสร้างโรงงานผลิตแผ่นคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปเพื่อซัพพลายให้กับโครงการอสังหาริมทรัพย์ของตัวเอง ซึ่งต้องยอมรับว่าในช่วงแรกพฤกษาฯ ใช้ความพยายามอย่างมากในการสื่อสารกับผู้บริโภคที่ยังยึดติดกับระบบก่อสร้างดั้งเดิม ตลอดจนพิสูจน์ให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของเทคโนโลยีจนเป็นที่ยอมรับและทำให้พฤกษา เรียลเอสเตท ขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งของวงการด้านรายได้สูงสุดหลายปีติดต่อกัน

precast
ภายในโรงงานผลิต Precast ของพฤกษา เรียลเอสเตท (ภาพจาก www.pruksa.com)

หลังจากนั้นไม่นานบริษัทพัฒนาอสังหาฯ รายใหญ่ๆ อย่างแสนสิริก็เริ่มให้ความสำคัญกับงานก่อสร้างแบบผนังสำเร็จรูปในกลุ่มสินค้าระดับต้น-กลาง เช่นเดียวกับอีกหลายแบรนด์ที่หันมาปรับเปลี่ยนวิธีการก่อสร้างบางส่วนจากระบบก่อสร้างเดิมมาเป็นการก่อสร้างด้วยระบบชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปทั้งแบบ Precast Concrete และ Prestressed Concrete เพื่อทำให้ก่อสร้างได้เร็วขึ้นและลดความเสี่ยงปัญหาแรงงานก่อสร้างถดถอย โดยเฉพาะแรงงานที่มีฝีมือที่นับวันยิ่งหายาก ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าแรงงานไทยในอุตสาหกรรมก่อสร้างน้อยลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้สัดส่วนแรงงานต่างด้าวต่อแรงงานอุตสาหกรรมก่อสร้างสูงขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2559 ที่ประมาณ 11% และสูงขึ้นเป็น 27% ในปี 2562

ประเด็นต้นทุนก่อสร้างและปัญหาแรงงานขาดแคลนทำให้แนวโน้มระบบก่อสร้างด้วยชิ้นส่วนสำเร็จรูป (Prefabricated Construction) ในประเทศไทยและทั่วโลกยังคงเดินหน้าต่อไป Economic Intelligence Center (EIC) ของธนาคารไทยพาณิชย์ชี้ว่า Prefab คือ 1 ใน 3 ของเทคโนโลยี เพื่อการก่อสร้างที่มีศักยภาพสูงในอนาคตที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้านแรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของผู้ประกอบการด้านการก่อสร้าง ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ประเมินว่าสัดส่วนงานก่อสร้างด้วย Precast Concrete ในกลุ่มอาคารที่พักอาศัยแนวราบจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3% จนถึงปี 2568 และยังเป็นกำลังสำคัญสำหรับการสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แบบเร็วๆ นี้

ผู้บริโภคได้อะไรจาก Prefabrication 

การเติบโตของอุตสาหกรรมก่อสร้างแบบ Prefab ที่มาจากการพร้อมใจกันปรับตัวของบริษัทอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไป ทำให้ผู้บริโภคที่กำลังมองหาบ้านพักอาศัยหลังใหม่จำเป็นต้องปรับตัวไปพร้อมกับเทคโนโลยีนี้ด้วยเช่นกัน 

โดยข้อจำกัดหลักๆ ของระบบก่อสร้างด้วยผนังคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปหรือ Precast คือเราไม่สามารถดัดแปลงหรือต่อเติมอะไรที่เกี่ยวกับโครงสร้างผนังได้เลย (แต่สามารถเจาะผนังเพื่อแขวนแอร์ หรือยึดเฟอร์นิเจอร์ได้) นั่นทำให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ ต้องพิจารณาถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตและฟังก์ชันที่ต้องการอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อ และอีกหนึ่งปัญหาที่เจอะเจอกันบ่อยคือรอยรั่วจากการต่อแผ่นคอนกรีตที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งผู้ผลิตเองก็พยายามแก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพขึ้น

Prefab Architechture
Prefabrication ช่วยขยายขีดความสามารถในการออกแบบให้บ้านมีรูปทรงที่สะดุดตา (ภาพจาก www.dezeen.com)

ส่วนของประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้รับจากระบบ Prefab เราขออธิบายผ่าน 4 ประเด็น ดังนี้   

  1. ดีไซน์เพื่อการอยู่อาศัย

ระบบ Prefab ช่วยขยายขอบเขตการออกแบบสถาปัตยกรรมให้มีมิติดีไซน์ใหม่ๆ เนื่องจากไม่จำเป็นต้องพึ่งโครงสร้างเสาและคานเพื่อรองรับน้ำหนักเพียงอย่างเดียวเหมือนในระบบก่อสร้างดั้งเดิม จึงสามารถพลิกแพลงรูปทรง (Form) ได้มากขึ้นและนั่นทำให้รูปร่างหน้าตาของอาคารบ้านเรือนมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น 

  1. พื้นที่ใช้สอย

การใช้ผนัง Precast มาช่วยรับน้ำหนักทำให้เราได้ช่วงเสาที่ยาวขึ้น (Long-span) ลดขนาดเสาและคานให้เล็กลง (หรือไม่ต้องมีเลย) จึงทำให้พื้นที่ใช้สอยภายในทั้งแนวนอนและแนวตั้งสร้างความรู้สึกโปร่งสบาย ไม่มีเหลี่ยมมุมจุกจิกจึงใช้พื้นที่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย จัดวางเฟอร์นิเจอร์ได้ลงตัวยิ่งขึ้น

  1. ความปลอดภัย  

หลายคนกังวลว่า Precast แผ่นบางๆ จะแข็งแรงเท่าอิฐฉาบปูนได้อย่างไร คำตอบคือปลอดภัยและมีคุณภาพที่เป็นมาตรฐานกว่าการก่ออิฐด้วยซ้ำ เนื่องจากชิ้นส่วนแต่ละชิ้นถูกคำนวนค่าความแข็งแรงให้เหมาะกับตำแหน่งที่จะนำไปใช้งาน และการหล่อคอนกรีตเสริมเหล็กในแม่พิมพ์ภายในโรงงานอุตสาหกรรมก็มีเทคโนโลยีและขั้นตอนที่แม่นยำ

  1. สุขภาวะผู้อยู่อาศัย

การสร้างบ้านด้วยชิ้นส่วนสำเร็จจัดเป็นระบบก่อสร้างแบบแห้ง จึงลดปริมาณฝุ่นหรือสารประกอบอินทรีย์ระเหย (VOCs) ในไซต์ก่อสร้างได้ดีกว่า ซึ่งทำให้อัตราการก่ออันตรายระบบทางเดินหายใจเมื่อเจ้าของบ้านย้ายเข้าอยู่อาศัยลดน้อยลง

สรุปท้ายบทความ 

Prefabrication หรือการก่อสร้างด้วยชิ้นส่วนสำเร็จรูปเป็นนวัตกรรมที่ทำให้งานสถาปัตยกรรมและวงการอสังหาริมทรัพย์ก้าวข้ามขีดจำกัดในหลายๆ ด้าน ซึ่งไม่เพียงประโยชน์ในฝั่งผู้ผลิตที่สามารถก่อสร้างอาคารบ้านเรือนรวดเร็ว ควบคุมค่าใช้จ่ายได้ แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคตเท่าน้ัน แต่ในมุมของผู้อยู่อาศัยก็ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เป็นทั้งสุนทรียภาพจากสถาปัตยกรรมมีดีไซน์ และการใช้สอยประโยชน์จากพื้นที่ที่เติมเต็มชีวิตได้ครบครัน

ส่วนใครที่อยากลองใช้ชีวิตในบ้านที่สร้างจากเทคโนโลยี Prefab อยู่บ้างล่ะก็ เข้ามาค้นหาที่ Kaidee Property ได้เลย เรามีโครงการหมู่บ้านจัดสรรที่ใช้นวัตกรรมดังกล่าวจากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ดังๆ หลายเจ้าเลย

สอบถามข้อมูลอื่นๆ หรือสิทธิพิเศษเพิ่มเติม

กรุณาสแกนคิวอาร์โค้ด หรือเพิ่มเพื่อนด้วยไอดีไลน์ @kaideeofficial