ทรงไทยใครว่าเก่า? มาดูแบบบ้านทรงไทยประยุกต์กัน

ทรงไทยใครว่าเก่า? มาดูแบบบ้านทรงไทยประยุกต์กัน

สรุปบทความ

บ้านทรงไทยประยุกต์คือแบบบ้านที่ถูกพัฒนามาจากแปลนบ้านเรือนไทยในสมัยก่อน ซึ่งแบบบ้านจะต่างออกไปในแต่ละภาค แต่จะมีความแตกต่างกันอย่างไรนั้น ตามไปดูกันเลยค่ะ

เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า Back to Basic วันนี้ Kaidee จะพาคุณมาย้อนยุค ดูแบบบ้านทรงไทยประยุกต์ที่ผสมผสานความไทยและความทันสมัยเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว แบบที่ว่าไม่ Basic จนเกินไปและยังซ่อนความเก๋ มีสไตล์ไว้ด้วย

บ้านทรงไทย

แบบบ้านทรงไทยประยุกต์คือ ?

บ้านทรงไทยประยุกต์คือแบบบ้านที่ถูกพัฒนามาจากแปลนบ้านเรือนไทยในสมัยก่อน ซึ่งแบบบ้านจะต่างออกไปในแต่ละภาคคือ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ โดยจะปรับเปลี่ยนตามสภาพภูมิอากาศของแต่ละภาคและการใช้สอยพื้นที่ในชีวิตประจำวันนั่นเอง

การประยุกต์แบบบ้านนั้นจะมี 2 อย่างหลัก ๆ คือ การประยุกต์โดยเน้นพื้นที่ใช้สอย และการประยุกต์โดยเน้นรูปแบบ

การประยุกต์โดยการเน้นพื้นที่ใช้สอย จะเป็นการเอาลักษณะของแบบแปลนสมัยก่อนมาปรับใช้ ยกตัวอย่าง เช่น การใช้ชานหรือระเบียงเป็นพื้นที่เชื่อมระหว่างสองอาคาร ทำให้มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น ข้อดีของการประยุกต์แบบนี้คือทำให้บ้านมีพื้นที่ที่แสงส่องถึงมากขึ้น รวมถึงอากาศจะถ่ายเทสะดวกมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ถือว่าเป็นการลดใช้ไฟฟ้าและประหยัดไปได้ในตัว

ตัวอย่างของฝาปะทนในบ้านทรงไทยประยุกต์

ส่วนการประยุกต์ที่เน้นรูปแบบ จะเป็นในเชิงของการเอาแพทเทิร์นของบ้านเรือนไทยมาใส่ไว้ในบ้าน เช่น การเอาหลังคาทรงสูง ชายหลังคายาวที่มีส่วนช่วยในการระบายน้ำฝนมาปรับใช้ รวมทั้งการตกแต่งภายในที่สามารถเอา ‘ฝาปะทน’ ซึ่งเป็นลายผนังในสมัยโบราณมาตกแต่งเพื่อให้กลิ่นอายของความเป็นไทย

โดยรวมแล้ว หากใส่ใจในรายละเอียดและตกแต่งให้เข้ากันนั้น บ้านทรงไทยประยุกต์จะดูไม่เก่าหรือเชย แต่จะกลายเป็นบ้านที่มีเอกลักษณ์ในตัวสูงเป็นอย่างมาก

4 เอกลักษณ์บ้านทรงไทยประยุกต์

เอกลักษณ์ 4 อย่างที่มองปราดเดียวก็รู้ว่าเป็นบ้านทรงไทยประยุกต์นั้นมีอะไรกันบ้างไปดูกันเลยค่ะ

1.ใต้ถุนสูง

ใต้ถุนที่สูงของบ้านทรงไทยประยุกต์นั้นถือว่าเป็นจุดเด่น เพราะการมีใต้ถุนสูงนั้น นอกจากจะทำให้พื้นที่ใช้สอยมากขึ้นแล้ว ยังเอาไว้หลบแดดในตอนกลางวันได้อีกด้วย ทั้งนี้การยกใต้ถุนสูงในบ้านทรงไทยประยุกต์จะทำให้ลมพัดผ่านตัวบ้าน ถือเป็นการระบายอากาศที่ดี แถมตอนฤดูฝน ยังทำให้น้ำไม่ท่วมบ้านอีกด้วย

2.วัสดุเป็นไม้ผสมปูน

เป็นความแปลกใหม่อีกหนึ่งอย่างของบ้านทรงไทยประยุกต์บางหลังที่จะทำชั้นล่างเป็นปูนเพื่อความแข็งแรงและคงทนของตัวบ้าน ส่วนชั้นที่สองจะทำจากไม้ ถึงจะทำจากคนละวัสดุกันแต่ก็ก่อให้เกิดประโยชน์ในทางการใช้สอยของตัวบ้านในทุกสภาพอากาศ แถมยังเป็นการลดใช้วัสดุจากไม้ เป็นการรักษาผืนป่าไปในตัว 

3.มีชานหรือระเบียงไว้นั่งเล่น

ชานของบ้านทรงไทยประยุกต์

ชานและระเบียงเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์สำคัญของบ้านทรงไทยประยุกต์เพราะนอกจากจะสามารถใช้เป็นที่ต้อนรับแขก ยังสามารถเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ นั่งจิบชาหรือกาแฟยามเช้าได้อีกด้วย หากท่านไหนรักธรรมชาติ หรือชอบปลูกต้นไม้ ก็ยังสามารถนำเอาต้นไม้เล็ก ๆ มาตกแต่งเพื่อเพิ่มความสดชื่นในทุก ๆ วัน

4.หลังคาทรงสูง

หลังคาทรงสูงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ขาดไม่ได้ของบ้านทรงไทยประยุกต์ เพราะความเป็นชั้นของหลังคานั้นจะช่วยถ่ายเทน้ำฝน อีกทั้งยังระบายความร้อนจากตัวบ้านได้เร็วกว่าบ้านในยุคปัจจุบัน ทำให้ตัวบ้านทรงไทยประยุกต์นั้นเย็นสบายกว่าบ้านทั่ว ๆ ไป ส่วนหลังคาที่จะเรียกว่าเป็นทรงสูงนั้น จะต้องเป็นหลังคาที่มีความชันอย่างน้อย 35 องศา

แบบบ้านทรงไทยประยุกต์ในแต่ละภาค

1.บ้านทรงไทยประยุกต์ภาคกลาง

บ้านทรงไทยประยุกต์ภาคกลาง
ขอขอบคุณภาพจาก forfur.com

เมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ จะสังเกตเห็นได้ว่า บ้านทรงไทยประยุกต์ภาคกลางนั้นมีใต้ถุนสูงกว่าภาคอื่น ๆ เหตุคือ ในสมัยก่อนชาวภาคกลางนิยมปลูกบ้านไว้ริมน้ำ เพราะการโดยสารหลักในสมัยนั้นคือเรือ จึงทำให้การมีบ้านริมน้ำสะดวกต่อการเดินทาง 

เมื่ออยู่ริมน้ำจึงต้องสร้างใต้ถุนให้สูงเข้าบ้าน เพื่อที่ว่าในฤดูน้ำหลาก น้ำจะได้ไม่ท่วมบ้าน ทั้งยังช่วยป้องกันผู้อยู่อาศัยจากสัตว์รบกวนต่าง ๆ อีกด้วย ในเรื่องของหลังคาที่สูงนั้นจะทำให้ระบายน้ำตอนฝนตกได้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการรั่วซึมของหลังคาและระบายความร้อนของภูมิอากาศแถบภาคกลาง

2.บ้านทรงไทยประยุกต์ภาคเหนือ

บ้านทรงไทยประยุกต์ภาคเหนือ
ขอขอบคุณภาพจาก forfur.com

ด้วยความที่ภาคเหนือเป็นพื้นที่ราบสูง และมีภูมิอากาศหนาวเย็นกว่าภาคกลาง จึงทำให้ต้องทำใต้ถุนแบบไม่สูงมากนักเพื่อรับความอบอุ่นจากพื้นดิน รวมทั้งหน้าต่างที่เล็กเพื่อให้ลมหนาวพัดผ่านได้น้อยลง โดยหน้าต่างนั้นจะเป็นแบบบานกระทุ้ง 

ส่วนหลังคาของบ้านทรงไทยประยุกต์ภาคเหนือจะไม่สูงชันเท่าภาคกลาง และจะออกแบบแตกต่างกันคือออกแบบเป็นหลังคาทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว และประดับกาแลที่เป็นไม้ไขว้กันเพื่อไม่ให้นกจำพวก แร้ง หรือกามาเกาะ เนื่องจากชาวภาคเหนือมีความเชื่อว่านกจำพวกนี้ถือเป็นลางร้าย

3.บ้านทรงไทยประยุกต์ภาคอีสาน

บ้านทรงไทยประยุกต์ภาคอีสาน
ขอขอบคุณภาพจาก forfur.com

บ้านทรงไทยประยุกต์ของภาคอีสานจะมีส่วนคล้ายของภาคกลางอยู่บ้างในส่วนของการยกใต้ถุนสูงเพื่อใช้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ โดยชาวภาคอีสานจะนิยมเอาไว้ใช้เป็นพื้นที่ในการทอผ้า หรือเอาไว้เก็บอุปกรณ์ในการเพาะปลูกและอุปกรณ์เกี่ยวกับอาชีพหัตถกรรม

เนื่องด้วยสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งกว่าภาคกลาง และฝนตกไม่ชุก จึงทำให้หลังคาไม่จำเป็นต้องมีความชัน อีกนัยหนึ่งคือหลังคาของบ้านทรงไทยประยุกต์ภาคอีสานสามารถทำเป็นทรงจั่วได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นทรงสูง ในส่วนของหน้าต่างจะแคบเพื่อป้องกันลมพัดผ่านในฤดูหนาว

4.บ้านทรงไทยประยุกต์ภาคใต้

บ้านทรงไทยประยุกต์ภาคใต้
ขอขอบคุณภาพจาก forfur.com

ด้วยความที่ภาคใต้เป็นภาคที่มีฝนตก ลมแรง และเจอพายุบ่อย ลักษณะของบ้านทรงไทยประยุกต์ภาคใต้จึงถูกสร้างให้เข้ากับภูมิอากาศคือ เสาเรือนจะตั้งอยู่บนฐานคอนกรีต หรืออาจจะเป็นเสาคอนกรีตทั้งเสาก็ได้ ส่วนความสูงของใต้ถุนจะไม่สูงมาก จะเน้นที่ความแข็งแรงของโครงสร้างมากกว่าพื้นที่ใช้สอย

ในส่วนของหลังคาสามารถพบได้แบบตั้งแต่หลังคาทรงปั้นหยา หลังคาทรงมนิลา และหลังคาทรงบรานอร์ที่เกิดมาจากผสมผสานสไตล์ระหว่างหลังคาจั่วกับหลังคาทรงปั้นหยา

ข้อดีของบ้านทรงไทยประยุกต์

ข้อดีของบ้านทรงไทยประยุกต์คือสามารถซื้อแบบที่ขึ้นเรือนไว้แล้วได้เลย เหมือนกับซื้อบ้านสำเร็จรูปแล้วจึงนำมาประกอบบนผืนที่ดินของเรา ซึ่งเมื่อประกอบเสร็จก็มุงหลังคาตามแบบที่ชอบได้เลย พร้อมเข้าอยู่

นอกจากนี้การมีบ้านทรงไทยประยุกต์นั้นทำให้เราจะต่อเติมเพิ่มกี่หลังก็ได้ตราบใดที่ที่ดินของเรามีพื้นที่มากพอ เพราะบ้านทรงไทยประยุกต์อาศัยชานบ้านหรือพื้นที่ส่วนกลางในการเชื่อมกันอยู่แล้วจึงไม่ต้องห่วงเรื่องการต่อเติมเลย

ข้อเสียของบ้านทรงไทยประยุกต์

ด้วยความที่ข้อดีของบ้านทรงไทยประยุกต์คือการต่อเติมแบบไม่จำกัดจึงทำให้ข้อเสียที่ตามมาไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือการที่บ้านจะมีความสัมพันธ์หรือความเข้ากันน้อยลง เพราะการต่อเติมทีหลังทำให้มีโอกาสมากที่บ้านจะออกมาคนละแนวนั่นเอง

นอกจากนี้อาจต้องระวังเรื่องการกินพื้นที่ของบ้านที่ต่อเติมใหม่อีกด้วย ต้องวางแผนและจัดสรรพื้นที่ดินของเราให้ดี ไม่อย่างนั้นอาจจะกลายเป็นว่าบ้านเต็มพื้นที่ และไม่เหลือที่ไว้ให้เดินเล่นเลย ทั้งนี้อีกเรื่องที่ควรระวังคือการทรุดของบ้าน เพราะบ้านทรงไทยประยุกต์บางหลังอาจจะไม่ได้มีการคำนวณโครงสร้างเพื่อรับน้ำหนักของตัวบ้าน จึงอาจจะทำให้บ้านทรุด เสาไม่เท่ากัน หรือระดับของพื้นไม้ในบ้านไม่ขนานกับพื้นดิน เป็นต้น

สรุปท้ายบทความแบบบ้านทรงไทยประยุกต์

อ่านมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่าบ้านทรงไทยประยุกต์ของเรานั้นไม่ได้ดูเก่าเลย กลับดูโมเดิร์นและแฝงความเป็นไทยไว้ได้อย่างลงตัว ใครสนใจอยากดูบ้านทรงไทยประยุกต์แบบอื่น ๆ ลองกดเข้ามาได้ที่ Kaidee

สอบถามข้อมูลอื่นๆ หรือสิทธิพิเศษเพิ่มเติม

กรุณาสแกนคิวอาร์โค้ด หรือเพิ่มเพื่อนด้วยไอดีไลน์ @kaideeofficial