Eco-Friendly Construction สถาปัตยกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม

Eco-Friendly Construction สถาปัตยกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม

สรุปบทความ

Eco-Friendly Construction เป็นแนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือทำลายระบบนิเวศให้น้อยที่สุด ซึ่งปัจจุบันเป็นเทรนด์การออกแบบที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญและประยุกต์ใช้อย่างต่อเนื่อง

“ปริมาณมวลรวมสรรพสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น จะแซงหน้า “ชีวมวล” ของสิ่งมีชีวิตทั้งโลกในสิ้นปีนี้” 

พาดหัวข่าวใหญ่จาก BBC เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทำเอาคนรักสิ่งแวดล้อมหนักอึ้งในใจ ด้วยสัดส่วนของ “ธรรมชาติ” ถดถอย และนั่นหมายถึงโลกกำลังเข้าสู่จุดไม่สมดุล ที่พร้อมส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนไม่เร็วก็ช้าอย่างแน่นอน เนื่องจากมนุษย์เองเป็นองค์ประกอบหนึ่งของธรรมชาติที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นมาเนิ่นนาน

เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับสิ่งสร้างสรรค์ทางสถาปัตยกรรมที่ไม่อาจตัดขาดจากกันได้อย่างสิ้นเชิง เพราะทันทีที่มนุษย์สร้างถนนหนทางคืนคานพื้นที่ธรรมชาติ หรือเพียงถมดินปรับพื้นเพื่อสร้างบ้านเรือนก็ทำให้สิ่งแวดล้อมและวงจรของสิ่งมีชีวิตที่อยู่บริเวณนั้นเปลี่ยนแปลงไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นการออกแบบสิ่งก่อสร้างจึงต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐาน

หัวใจของสิ่งก่อสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อม

นิยามของสถาปัตยกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมในกรอบกว้างๆ คือการสร้างโครงสร้างที่เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้ทรัพยากรที่มีอย่างเต็มประสิทธิภาพ ตั้งแต่ขั้นตอนก่อสร้าง การบำรุงรักษา จนถึงการรื้อถอนเมื่อสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นหมดอายุขัย 

อย่างไรก็ตาม ในทางปฎิบัติเราไม่สามารถออกแบบและก่อสร้างอาคารบ้านเรือนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ความพยายามลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุดก็ถือว่าเป็นคุณลักษณะของสถาปัตยกรรมที่ดีได้เช่นกัน ซึ่งในหลักสูตร ‘เทคนิคการออกแบบและก่อสร้างอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ จากโครงการ Thai MOOC ได้กล่าวถึงคุณสมบัติของสถาปัตยกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยใน 3 ประเด็น ดังนี้ 

  1. ประเด็นทางกายภาพ

คือการทำอย่างไรให้สิ่งก่อสร้างนั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินอย่างสิ้นเชิง หรือเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบคนละขั้วนั้นไม่สมควรทำอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างการเอาที่ดินทางการเกษตรมาเป็นที่ดินสำหรับก่อสร้างอาคาร จุดนี้จะทำให้สูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดิน พร้อมกับสูญเสียศักยภาพในการผลิตอาหาร และเมื่ออาคารที่สร้างบนที่นาที่สวนเหล่านั้นหมดอายุใช้งานก็ยังยากที่จะฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพของทั้งพืชและสัตว์ที่เคยอาศัยในสิ่งแวดล้อมนั้นอีกด้วย ดังนั้นทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของการสร้างอาคารใหม่ๆ คือควรเลือกปลูกสร้างบนพื้นที่ที่เคยถูกก่อสร้างมาแล้ว หรือมีความอุดมสมบูรณ์น้อย เพื่อจํากัดการรุกรานของพื้นที่ตามธรรมชาติที่สมบูรณ์อยู่นั่นเอง

  1. ประเด็นด้านการบริโภคทรัพยากร

สถาปัตยกรรมที่ดีควรใช้ทรัพยากรน้อยตลอดอายุขัย ประเด็นนี้เห็นได้ชัดในงานสถาปัตยกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมปัจจุบันหรือในบรรดาอาคารสีเขียว (Green Architcture) ครอบคลุมตั้งแต่การคัดเลือกวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นจนถึงรื้อทิ้ง ซึ่งสามารถมองการใช้งานได้หลายมุมมอง ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติหรือวัสดุสังเคราะห์ที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ  การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อลดความสิ้นเปลืองด้านขนส่ง การใช้วัสดุที่มาจากการรีไซเคิลหรือสามารถนำไปรีไซเคิลต่อเมื่อหมดอายุใช้งาน ตลอดจนการเลือกใช้วัสดุที่มีความทนทานมากกว่า เช่น ใช้หลอดไฟ LED ที่มีอายุการใช้งานยาวนานและกินไฟน้อยกว่าแทนหลอดไฟแบบหลอดทั่วไป

นอกจากนี้ยังมีการดึงธรรมชาติเข้ามาเป็นองค์ประกอบของงานดีไซน์ ที่ไม่เพียงสร้างสุขภาวะ (Well-being) ให้ผู้ใช้อาคาร แต่ยังช่วยประหยัดการใช้พลังงานซึ่งเป็นทางหนึ่งของการประหยัดทรัพยากรด้วย อาทิ ดีไซน์ช่องหน้าต่างขนาดใหญ่เปิดรับแสงได้ทั้งวัน ส่งผลให้เราใช้หลอดไฟประดิษฐ์น้อยลง การออกแบบช่องระบายอากาศเข้า-ออกภายในบ้านเพื่อให้ได้รับอากาศบริสุทธิ์และลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ดีไซน์เปลือกอาคาร (Facade) ให้เป็นฉนวนกันความร้อนอีกชั้นหนึ่ง การปลูกต้นไม้รอบอาคารเพื่อลดความร้อนสะสม รวมไปถึงการใช้แหล่งพลังงานสะอาดอย่างโซล่าเซลล์ หรือ Rain Harvesting ที่เป็นการกักเก็บน้ำฝนแล้วนำมาหมุนเวียนใช้อีกครั้ง 

Tallest Wooden Building
Mjøstårnet คืออาคารก่อสร้างจากไม้อัดแปรรูป (Laminated veneer lumber) ที่สูงที่สุดในโลก ซึ่งไม้ที่นำมาใช้ในโครงการนี้ ตัดจากผืนป่าปลูกที่อยู่ห่างจากไซต์ก่อสร้างเพียง 50 กิโลเมตร จึงจำกัดปริมาณมลพิษและพลังงานด้านการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ภาพจาก archiexpo.com)
  1. ประเด็นการปลดปล่อยของเสีย

เมื่อไรก็ตามที่เราเข้าใช้อาคารสถานที่ย่อมมีของเสียเกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะน้ำทิ้งจากการชำระล้าง หรือขยะจากการอุปโภคบริโภค เหล่านี้เป็นอีกประเด็นที่การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมต้องพิจารณาเพื่อหาวิธีการหรือออกแบบระบบบำบัดที่มีคุณภาพ เพื่อให้ของเสียหรือสิ่งปฏิกูลถูกปลดปล่อยออกจากอาคารโดยไม่สร้างมลพิษ หรือเป็นต้นเหตุของมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศโดยรอบ ยกตัวอย่างวิธีการแก้ปัญหาที่นิยมกัน ได้แก่ การติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียก่อนทิ้งลงลำคลองสาธารณะหรือนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง และจัดการกับเศษอาหารด้วยการหมักเป็นปุ๋ยแทนการทิ้งเป็นขยะทั่วไป เป็นต้น 

ชวนชมสถาปัตยกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมสุดเจ๋ง

การออกแบบสิ่งก่อสร้างให้อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมด้วยความเกื้อกูลกัน เป็นความพยายามของสถาปนิกที่ต่างพัฒนางานดีไซน์ให้ตอบโจทย์ ในบทความนี้เราเลยคัดมาให้ชมกันเบาๆ กับ 3 โปรเจ็คสวยๆ ที่สะท้อนความเป็น Eco-Friendly Construction ได้อย่างงดงาม

Svart Hotel

เริ่มกันที่โปรเจ็คแรกกับ “Svart Hotel” โรงแรมกลางหุบเขาโอบล้อมด้วยธารน้ำแข็งและทะเลสาบ โดดเด่นด้วยอาคารรูปทรงวงแหวนที่ออกแบบให้เหมาะกับการพักผ่อนอย่างแท้จริงพร้อมวิว 360 องศา และที่พิเศษไปกว่านั้นคือการพรีเซ็นต์ตัวในฐานะโรงแรมแห่งแรกของโลกที่ใช้พลังงานสีเขียวจากธรรมชาติเกือบ 100% โดยอาศัยความร้อนใต้พิภพและพลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตพลังงานต่างๆ เพื่อใช้ในโรงแรม และช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่าโรงแรมทั่วไปถึง 85% นอกจากนี้ในกระบวนการก่อสร้างยังใช้วัสดุจากท้องถิ่นที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น หิน และไม้ ที่ทนทานต่อสภาพอากาศ รวมทั้งวัสดุที่มีความยั่งยืนอื่นๆ 

Svart Hotel
“Svart” โรงแรมแห่งแรกของโลกด้านการรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ตั้งอยู่เหนือเส้นวงกลมอาร์กติก (Arctic Circle) พร้อมเปิดให้บริการในปี 2564  (ภาพจาก svart.no)

ASI Reisen Headquarters

สำนักงานใหญ่ของบริษัทท่องเที่ยวและแทร็กกิ้งในประเทศออสเตรียถูกออกแบบด้วยแนวคิด Long-term Low Environmental Footprint หรือการลดกระทบต่อระบบนิเวศน์ในระยะยาว มีจุดเด่นอยู่ที่การนำ “ไม้” ที่ได้ชื่อว่าเป็นวัสดุที่มีความยั่งยืนมาเป็นวัสดุหลักทั้งก่อสร้างโครงสร้างและงานตกแต่งภายใน ส่งผลให้เกิดความเชื่อมโยงของธรรมชาติถึงผู้ใช้อาคารแบบทุกย่างก้าวในออฟฟิศ มีการออกแบบเปลือกอาคาร (Facade) ด้วยโครงเหล็กและตาข่ายเพื่อรองรับการเติบโตของไม้เลื้อยกว่า 118 สายพันธ์ุ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นดั่งผ้าม่านผืนใหญ่คอยปกป้องสภาพอากาศภายในอาคารให้อยู่สบายไม่ว่าจะฤดูกาลไหน ทั้งยังมีการออกแบบหลังคาให้สามารถรับน้ำฝนและกักเก็บลงถังใต้ดินเพื่อหมุนเวียนใช้รดน้ำต้นไม้และสนามหญ้าที่อยู่ในอาณาเขตของออฟฟิศแห่งนี้อีกด้วย

Eco-Building
บรรยากาศการตกแต่งภายในออฟฟิศให้ความรู้สึกผ่อนคลาย พร้อมพื้นที่สีเขียวรายล้อมรอบตัวสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อม (ภาพจาก snohetta.com)

Cube Berlin

เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้วสำหรับ Cube Berlin สถาปัตยกรรมที่เป็นทั้งปฏิมากรรม แลนด์มาร์คแห่งใหม่ และ Smart Office ที่ล้ำสมัยที่สุดในใจกลางกรุงเบอร์ลิน ความน่าสนใจของอาคารลูกบาศก์นี้น่าจะอยู่ที่วัสดุในการทำ Facade ซึ่งเป็นกระจกสะท้อนที่ทำให้เกิด Dynamic View ในทุกช่วงเวลา และยังเป็นตัวกลางช่วยให้กักแสงอาทิตย์ภายนอกไม่ให้รบกวนอุณหภูมิภายในอาคาร ยิ่งไปกว่านั้นตัวอาคารยังติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อศึกษาและจดจำพฤติกรรมของผู้ใช้อาคาร ก่อนวิเคราะห์ออกมาเป็นฟีเจอร์ควบคุมที่เหมาะกับแต่ละสถานการณ์ จนสามารถเป็นอาคารที่ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าอาคารสีเขียวทั่วไปถึง 25%

Cube Berlin
อาคาร Cube Berlin กลายเป็น Iconic Building ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยควบคุมด้านการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  (ภาพจาก 3xn.com)

สรุปท้ายบทความ

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา การก่อสร้างตึกรามบ้านช่องเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเป็นอันดับต้นๆ การกลับมาตั้งหลักเพื่อสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมอีกครั้งในวันที่ธรรมชาติกำลังถูกทำลายจนถึงจุดไม่สมดุล จึงเป็นบทบาทสำคัญของเหล่าวิชาชีพงานก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิก วิศวกร มัณฑนากร หรือแม้แต่ผู้รับเหมา ที่จะช่วยกันผลิตอาคารที่มีคุณภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง 

ในขณะที่ผู้ใช้อาคารเองก็ต้องมีส่วนร่วมในฐานะผู้ผลักดันเรียกร้องเพื่อให้เทรนด์ Eco-Friendly Construction ไม่ใช่แค่ภาพฝันอีกต่อไป แต่คือแนวทางปฏิบัติพื้นฐานที่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องใส่ใจ ซึ่งปัจจุบันเทรนด์อาคารเพื่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม และโครงการบ้านจัดสรร ซึ่งคุณสามารถค้นหาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมได้ที่ Kaidee Property

สอบถามข้อมูลอื่นๆ หรือสิทธิพิเศษเพิ่มเติม

กรุณาสแกนคิวอาร์โค้ด หรือเพิ่มเพื่อนด้วยไอดีไลน์ @kaideeofficial