ฝันที่เป็นจริง! ‘LGBTQ+’ กู้ร่วมได้แล้ว ผ่านธนาคารต่อไปนี้

ฝันที่เป็นจริง! ‘LGBTQ+’ กู้ร่วมได้แล้ว ผ่านธนาคารต่อไปนี้

บนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพศไหนล้วนงดงามด้วยกันทั้งสิ้น และเมื่อความรักเติบใหญ่ ความฝันของหลายๆ คู่ ที่มีร่วมกัน
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หนึ่งในนั้นก็คือ การมีบ้านสักหลัง หรือคอนโดฯ สักห้อง เพราะนอกจากจะเป็นความมั่นคงรูปแบบหนึ่งแล้ว
ยังเป็นที่อยู่อาศัย เป็นที่พักพิงกายใจยามอ่อนล้าอีกด้วย

ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่มีกฎหมายรองรับการจดทะเบียนในกลุ่ม LGBTQ แต่คู่รัก LGBTQ ก็สามารถทำธุรกรรมทางการเงินร่วมกันได้บ้างแล้ว เช่น การกู้ร่วมซื้อบ้าน ซึ่งก็มีหลายธนาคารที่สนับสนุนให้ผู้กู้กลุ่มดังกล่าวสามารถขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้

การกู้ร่วมคืออะไร?

เราขอยกตัวอย่างให้ฟังง่ายๆ และเห็นภาพดังนี้ สมมติว่าคุณต้องการซื้อคอนโดฯ สักห้อง แต่ติดที่ว่าห้องของโครงการที่สนใจ
มีราคาสูง พอมาคำนวณดูก็พบว่าหากยื่นกู้คนเดียวมีโอกาสไม่ผ่านค่อนข้างมาก สถาบันการเงินก็จะมีการถามต่อว่ามีพ่อแม่พี่น้อง หรือญาติๆ ไหม? เพื่อจะเอารายได้ของบุคคลดังกล่าวมาคำนวณรวมกับของเรา เป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือว่าเรามีกำลังผ่อนไหว ส่งผลให้อนุมัติเงินให้เราง่ายขึ้น

ดังนั้นการกู้ร่วมจึงเป็นการเซ็นสัญญายื่นกู้ร่วมกัน 2 – 3 คน ในทรัพย์สินชิ้นเดียวกัน และนำเอารายได้มาคำนวณรวมกันให้ธนาคารเห็นว่าคุณมีศักยภาพมากพอในการจ่ายเงินต้น และดอกเบี้ยให้กับธนาคารได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อให้ง่ายขึ้น หรืออาจได้วงเงินเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมอีกด้วย 

ซึ่งสถาบันการเงินส่วนใหญ่มักตั้งเงื่อนไขในการกู้ร่วมว่า อนุญาตให้กู้ร่วมเฉพาะคนที่เป็นสมาชิกครอบครัวเดียวกัน เช่น พ่อแม่ลูก, พี่น้อง, หรือญาติที่มีความสัมพันธ์กันทางสายเลือด หรือจะเป็นคู่สมรสที่มีการแต่งงานกัน จะจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนก็สามารถกู้ร่วมได้

แน่นอนว่าการผ่อนอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องผ่อนกันในระยะยาว 20 -30 ปี ธนาคารจึงต้องการคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ที่จะช่วยกันรับภาระดังกล่าวไปได้ตลอดจริงๆ และด้วยเหตุผลนี้ ทำให้หลายๆ สถาบันทางการเงินยังไม่มีนโยบายที่จะให้คู่รัก LGBTQ กู้ซื้อที่อยู่อาศัยร่วมกันได้ เนื่องจากเพราะความสัมพันธ์ยังดูไม่ใกล้ชิดเท่าคนในครอบครัว หรือชายหญิงที่เป็นคู่แต่งงาน แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ในปัจจุบันมีหลายๆ ธนาคารที่ยอมปล่อยกู้ให้แล้ว เรียกได้ว่านี่คือฝันที่เป็นจริงเลยล่ะค่ะ

กู้ร่วมทั่วไป การกู้ร่วมของคู่รัก LGBTQ+ ต่างกันหรือไม่?

ต้องขอบอกว่าความแตกต่างของการกู้ร่วมทั่วไปกับการกู้ร่วมของคู่รัก LGBTQ นั้นไม่ต่างกัน ส่วนที่ต่างคือกรรมสิทธิ์ผู้ถือครอง ซึ่งตามปกติจะมีให้เลือก 2 รูปแบบคือ

แบบที่ 1 ใส่ชื่อคนเดียวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่เวลายื่นกู้มีผู้กู้ร่วม
แบบที่ 2 ใส่ชื่อผู้กู้ทั้ง 2 คนให้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน

แต่สำหรับชาว LGBTQ ธนาคารส่วนใหญ่กำหนดว่าจะต้องเลือกแบบ 2 เท่านั้น สิ่งที่ต้องระวังก็คือ เมื่อผ่อนเสร็จแล้วกรรมสิทธิ์จะเป็นของผู้กู้ทั้งคู่ ไม่ว่าเงินผ่อนของแต่ละคนจะจ่ายเท่าหรือไม่เท่ากันก็ตาม หรือสุดท้ายแล้วต้องการให้เป็นกรรมสิทธิ์ของฝั่งใดฝั่งหนึ่งก็ต้องมีการโอนทรัพย์สิน ซึ่งการโอนนั้นต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียมการโอนด้วย

เช็กลิสต์ธนาคาร ที่ชาว ‘LGBTQ+’ กู้ร่วมได้

จากภาพข้างต้น จะเห็นได้ว่าหลายสถาบันทางการเงินต่างก็เปิดโอกาสให้ชาว LGBTQ กู้ร่วมได้แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่
วงเงินกู้สูงสุดจะอยู่ที่ 90% – 100% ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร ส่วนเอกสารในการยื่นกู้นั้นไม่แตกต่างกัน
โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

  • สำเนาบัตรประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • ใบสำคัญสมรส หรือเอกสารรับรองการอยู่ด้วยกัน
  • หนังสือรับรองเงินเดือนและสลิปเงินเดือน
  • Statement ย้อนหลัง 6 เดือน
  • สำเนาสัญญาซื้อขาย

ถ้าเลิกรากัน จะจัดการทรัพย์สินอย่างไร?

บนเส้นทางของความสัมพันธ์นั้นต่างมีอะไรให้เรียนรู้มากมาย ทำให้ไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่าจะคงอยู่ตลอดไป
ในกรณีที่เลิกรากันคู่รักสามารถจัดการกับทรัพย์สินที่กู้ร่วมกันได้ดังนี้

1. กรณีไม่ได้ทำการรีไฟแนนซ์ และมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการรักษาทรัพย์สินไว้
มีการผ่อนต่อคนเดียวจนหมด แต่เมื่อผ่อนหมด กลายเป็นกรรมสิทธิ์ทั้ง 2 คน

สามารถทำเรื่องโอนกรรมสิทธิ์ให้กับคนที่ผ่อนมาจนหมดได้ แต่ต้องตกลงกันให้ได้ก่อน ซึ่งปัญหาที่พบก็คือ
ตกลงกันไม่ได้ ทำให้ผู้ที่ผ่อนคนเดียวต้องฟ้องร้องถอนชื่อเจ้าของร่วมออก 

หลักฐานที่ใช้ยืนยัน อาทิ สลิป-ใบเสร็จในการจ่ายหนี้, การหักหนี้ผ่านบัญชีธนาคารทุกเดือน โดยใช้สิทธิทางศาล
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ❯ มาตรา 55 เพื่อขอถอนชื่อออกจากโฉนดได้

แต่การขึ้นศาลยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าทนาย ค่าเอกสาร ฯลฯ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ
และตัดสินใจให้ถี่ถ้วนก่อนกู้ร่วมเสมอ

2. กรณียังผ่อนไม่หมด และมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการผ่อนต่อ

ฝ่ายที่ต้องการผ่อนต่อต้องเป็นผู้รับผิดชอบเงินผ่อนทั้งหมด ซึ่งธนาคารจะประเมินความสามารถในการผ่อน
ของผู้กู้ที่เหลือว่ามีศักยภาพพอจะจ่ายไหวหรือไม่ 

แต่ปัญหาที่พบบ่อยๆ คือ ผู้กู้ที่เหลือไม่มีความสามารถในการผ่อนต่อคนเดียวได้ ถึงจะให้คนในครอบครัวผ่อนต่อ
แต่กรรมสิทธิ์เมื่อผ่อนเสร็จก็จะเป็นของคนในชื่อที่กู้ร่วมอีกคนอยู่ดี ซึ่งวิธีแก้ไขก็คือ การเปลี่ยนชื่อผู้กู้ร่วมให้เป็นคนในครอบครัว
หรือญาติๆ แทน ผ่านการรีไฟแนนซ์ แต่ธนาคารก็ต้องพิจารณาแล้วว่ามีความสามารถในการผ่อนแทน แต่ถ้าธนาคารพิจารณาแล้วว่าไม่ผ่าน ก็ไม่สามารถถอนชื่อผู้กู้ร่วมได้

ซึ่งการรีไฟแนนซ์จะมีค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้กู้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคารด้วย
ดังนั้นต้องคำนวณค่าใช้จ่ายให้ดีเสียก่อน

3. กรณีที่ต้องการขายทรัพย์สินที่ครอบครองร่วมกัน ต้องได้รับความยินยอมจากทุกฝ่ายก่อน

ขายทรัพย์สินก็ถือว่าเป็นอีกทางออกหนึ่งในกรณีที่ไม่มีใครต้องการผ่อนต่อ หรือไม่มีความสามารถในการผ่อนต่อเพียงคนเดียว 
แต่การขายต้องได้รับความยินยอมจากทั้ง 2 ฝ่ายก่อน

ในกรณีที่ผ่อนจนหมดแล้วกรรมสิทธิ์จะเป็นของทั้ง 2 ฝ่าย แต่ถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการขาย
แต่อีกฝ่ายไม่ยินยอมก็ไม่สามารถขายได้เช่นกัน

ฝันที่เป็นจริง! ของชาว LGBTQ+

สำหรับชาว LGBTQ การมีบ้านสักหลัง หรือคอนโดฯ สักห้อง นับว่าไม่ไกลเกินเอื้อมแล้วนะคะ แต่ก่อนจะกู้ร่วม ทางเราอยากให้ทุกคนศึกษารายละเอียดให้ดีซะก่อน เพื่อให้การกู้ร่วม การชำระหนี้ เป็นไปอย่างราบรื่น และที่สำคัญตัวโครงการต้องถูกใจ เหมาะกับไลฟ์สไตล์มากที่สุด เพื่อให้การอยู่อาศัยไร้ปัญหากวนใจ เกิดอยากปล่อยเช่าขึ้นมา ก็สามารถปล่อยเช่าได้ในราคาที่เหมาะสม

สอบถามข้อมูลอื่นๆ หรือสิทธิพิเศษเพิ่มเติม

กรุณาสแกนคิวอาร์โค้ด หรือเพิ่มเพื่อนด้วยไอดีไลน์ @kaideeofficial