How to สังเกตว่าน้องหมาของเรามีภาวะซึมเศร้า

How to สังเกตว่าน้องหมาของเรามีภาวะซึมเศร้า

รู้หรือเปล่า ? ว่าเจ้าสี่ขาที่บ้านก็มีภาวะซึมเศร้าได้เหมือนกัน เพราะพวกเขาพูดไม่ได้เหมือนมนุษย์ เหล่าทาสอย่างเราเลยต้องรู้จักสังเกตมากขึ้น แต่จะดีกว่าไหม ถ้าเรารู้จักตั้งแต่สาเหตุไปจนถึงขั้นตอนของการรักษา เจ้าสี่ขาจะได้อยู่กับเราไปนานๆ ยังไงล่ะ

รู้จักภาวะซึมเศร้าในสุนัข

เพราะลักษณะนิสัยของสุนัขแต่ละตัวมีความแตกต่างกัน พวกเขาจึงมีช่วงเวลาแย่ๆ ไม่แตกต่างกับมนุษย์ ส่วนสาเหตุที่ทำให้พวกเขาเกิดภาวะซึมเศร้ามีหลากสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น โรคประจำตัว การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ การสูญเสียคนที่รัก เจ้าของใหม่ หรือ การมีสมาชิกใหม่ในครอบครัว เป็นต้น

สัญญาณเตือนว่าสุนัขของคุณอาจมีอาการซึมเศร้า

ก่อนที่จะบอกว่าสุนัขของเพื่อนๆ มีอาการซึมเศร้าหรือไม่ ลองใส่ใจกับพฤติกรรมพวกเขาดูสักนิดว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงกะทันหันหรือไม่ โดยสังเกตพฤติกรรมดังต่อไปนี้ (หากมี 3 ข้อขึ้นไป เป็นไปได้ว่าพวกเขากำลังอยู่ในภาวะดังกล่าว)

1. กินอาหารน้อยลง

สุนัขบางตัว เมื่อเกิดอาการเศร้า ความอยากอาหารของพวกเขาจะน้อยลง ส่งผลให้น้ำหนักของพวกเขาลดลงตามไปด้วย แต่ก็มีบางตัวที่กินเยอะจนน้ำหนักขึ้นได้เหมือนกัน

2. นอนเยอะขึ้นจนผิดสังเกต

โดยเฉลี่ยแล้วสุนัขโตจะนอนประมาณ 12 ถึง 14 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนลูกสุนัขจะนอนประมาณ 18 ถึง 20 ชั่วโมง แม้จะดูปกติ แต่ก็อย่าลืมดูพฤติกรรมพวกเขาควบคู่ไปด้วย เช่น เวลาคุณกลับถึงบ้าน พวกเขาให้ความสนใจคุณเหมือนเดิมหรือไม่

ถ้ารู้สึกว่าผิดสังเกต ให้พาพวกเขาไปตรวจสุขภาพก่อน ถ้าไม่พบปัญหาและอาการดังกล่าวยังคงอยู่ เป็นไปได้ว่าพวกเขากำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้า

3. เลียอุ้งเท้า

การเลียหรือบดเคี้ยวมากเกินไป อาจเกิดขึ้นจากสรีระและสุขภาพจิตของพวกเขา ทางด้านสรีระอาจมาจากอาการติดเชื้อแบคทีเรีย อาการปวดข้อ และผิวหนังแห้ง สำหรับด้านสุขภาพจิตสุนัขที่ซึมเศร้ามักจะเลียและเคี้ยวอุ้งเท้าเพื่อปลอบตัวเอง

4. หลบซ่อนตัว และหลีกเลี่ยง

โดยทั่วไปพฤติกรรมหลบซ่อนตัวของสุนัขมักเกิดขึ้นจาก 2 สิ่งด้วยกันคือ ความเจ็บป่วยและอาการบาดเจ็บ (ภาวะซึมเศร้าจัดอยู่ในหมวดหมู่ ‘เจ็บป่วย’ ) หากพวกเขาซ่อนตัวหรือมีอาการอยากอยู่คนเดียวกะทันหัน เพราะมีบางอย่างรบกวน ถ้าไม่ใช่เรื่องทางกายภาพก็คงมาจากอารมณ์นี่แหละ

5. หมดความสนใจ

ทิ้งตัวนอนทั้งวัน ไม่อยากไปเดินเล่น ไม่กัดของเล่นชิ้นโปรด ไม่สนใจสิ่งอื่นๆ ที่ปกติจะสร้างความตื่นเต้นอยู่เสมอ อาการนี้ค่อนข้างชัดว่าต้องมีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นแน่ๆ พาไปหาสัตวแพทย์ด่วน

ทาสอย่างเราดูแลพวกเขายังไงดี ?

คำถามง่ายๆ ที่ทำให้ทาสอย่างเราคิดไม่ตกว่าควรเริ่มจากอะไรก่อนดี คำแนะนำคือ เพิ่มเวลาดูแลพวกเขาให้มากขึ้น และทำในสิ่งที่พวกเขาชอบ เช่น การพาไปเดินเล่น ไปเจอเพื่อนๆ สุนัขด้วยกัน การกอดหรือเล่นด้วยอย่างสม่ำเสมอ และไม่ลืมที่จะพาพวกเขาไปออกกำลังกาย เพราะนอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้วยังช่วยให้สภาพจิตใจแข็งแรงขึ้นอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างคุณกับพวกเขาด้วยนะ

แต่ถ้าคำแนะนำข้างต้นไม่เป็นผล อาจจะต้องปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อหาทางออกร่วมกัน จะได้รักษาได้ตรงจุด พร้อมคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลที่ถูกต้อง

ตัวยาในการรักษาภาวะซึมเศร้าในสุนัข

จากการศึกษาพบว่าตัวยาต่อไปนี้ค่อนข้างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษา ซึ่งแน่นอนว่าทุกการรักษามีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ด้วย

AMITRIPTYLINE

สัตวแพทย์มักจะสั่งจ่ายยาตัวนี้เสมอ ซึ่งตัวยาจะเข้าไปปรับระดับเซโรโทนินและนอร์อิพิเนฟรินเพื่อพยายามคืนความสมดุล และรักษาอาการวิตกกังวลในสัตว์เลี้ยงผลข้างเคียงที่พบบ่อย: อาการง่วงนอน ปากแห้ง ปัสสาวะลดลง อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น ท้องผูกอาเจียน

DOXEPIN

ใช้รักษาอาการกลัว (Phobia) และพฤติกรรม OCD ในสุนัขและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ นอกจากนี้ยังใช้เป็นยารักษาอาการแพ้อีกด้วย ผลข้างเคียงที่พบบ่อย: อาการง่วงนอน หมดแรง อาเจียน

FLUOXETINE

ตัวยาใช้รักษาภาวะซึมเศร้า OCD หรือโรคตื่นตระหนก (Panic) ผลข้างเคียงที่พบบ่อย: เบื่ออาหาร อารมณ์เปลี่ยนแปลง หงุดหงิด สมาธิสั้นและนอนไม่หลับ

การปรับเปลี่ยนภาวะอารมณ์ให้เจ้าสี่ขานั้น แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การใส่ใจและหมั่นสังเกตของทาสอย่างเราๆ นี่แหละที่สามารถช่วยรักษาภาวะซึมเศร้าของพวกเขาได้เป็นอย่างดี เพื่อให้พวกเขากลับมามีความสุข วิ่งเล่นด้วยพลังเต็มร้อยเหมือนเดิม

สำหรับใครที่มีเพื่อนสี่ขาเต็มบ้านไปหมด อยากแบ่งปันความสดใสของน้องๆลงประกาศขายสัตว์เลี้ยงของคุณได้เลย !

สอบถามข้อมูลอื่นๆ หรือสิทธิพิเศษเพิ่มเติม

กรุณาสแกนคิวอาร์โค้ด หรือเพิ่มเพื่อนด้วยไอดีไลน์ @kaideeofficial