7 แอปพลิเคชันสายวิ่ง ครบสำหรับทั้งมือใหม่และเจนสนาม

7 แอปพลิเคชันสายวิ่ง ครบสำหรับทั้งมือใหม่และเจนสนาม

“ปีใหม่นี้ เราลองหันมาวิ่งออกกำลังกาย จะดีไหมนะ”

ดีสิครับ การวิ่งถือเป็นหนึ่งในการออกกำลังกายที่ดีที่สุดก็ว่าได้ เพราะไม่ต้องใช้อุปกรณ์เยอะ ไม่ต้องเตรียมตัวนาน และได้ใช้ทุกสัดส่วนของร่างกายอย่างเต็มที่

อยากให้มีตัวช่วยในการวิ่ง

แต่ผมก็เข้าใจใครหลายๆ คนครับ จะให้ออกไปวิ่งเฉยๆ ก็ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร บางทีเราก็อยากมีผู้ช่วยดีๆ ที่คอยช่วยเหลือเรา จดบันทึกสถิติการวิ่งของเรา ทั้งระยะทาง เส้นทาง และความเร็วที่เราใช้ หรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการวิ่ง เพื่อที่เราจะได้นำไปปรับปรุงได้

วันนี้ ผมที่มีประสบการณ์การวิ่ง (แบบสมัครเล่น) มาแล้ว 5 ปี จะนำเอา 7 แอปพลิเคชันเพื่อนักวิ่ง ทั้งฝึกหัดและจอมเก๋ามาแบ่งปัน พร้อมเผยจุดเด่นเฉพาะตัวของแต่ละแอป บทความเดียวจบ ครบ ไม่ต้องเสียเวลาตัดสินใจให้เมื่อยสมอง

RunKeeper

เริ่มต้นกับแอปพลิเคชันตัวแรกยอดนิยมในหมู่นักวิ่งอย่าง Runkeeper ที่มีฟีเจอร์ที่อัดมาให้อย่างครบครัน มีความแม่นยำสูงในการบันทึกระยะทางและเส้นทางการวิ่ง สามารถดูสถิติการวิ่งของตัวเองย้อนหลังได้ และยังใช้งานง่ายเหมาะกับนักวิ่งทุกระดับ

จุดเด่นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของ Runkeeper คือฟีเจอร์ “เส้นทางการวิ่ง” (Pre-created routes) ที่แอปจะสร้างเส้นทางการวิ่งให้เราโดยอัตโนมัติ หากเราไม่รู้ว่าวันนี้จะวิ่งไปเส้นทางไหน หรือควรลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยไหนของเมืองดี ก็ลองเปิดใช้ฟีเจอร์นี้ใน Runkeeper ดู

Nike+ Run Club

แอปพลิเคชันเพื่อการวิ่ง จากผู้ผลิตและพัฒนาอุปกรณ์กีฬาชื่อดังอย่าง ไนกี้ ตัวแอปพลิเคชันมีคุณสมบัติมากมายไม่แพ้กันสำหรับนักวิ่ง ทั้งบันทึก ติดตามและคำนวณระยะทาง ความเร็วและแคลอรี่ที่เผาผลาญไป อีกทั้งเราสามารถใส่เพลย์ลิสต์ของตัวเองเพื่อฟังระหว่างวิ่งได้อีกด้วย

ในฐานะผู้ใช้จริง ผมคิดว่า Nike+ Run Club มีจุดเด่นตรงที่ฟีเจอร์ “การแข่งขันภารกิจ” (Challenges) ซึ่งจะมีตลอดทุกสัปดาห์ เดือน หรือแม้กระทั่งปี โดยแต่ละการแข่งขันจะมีทั้งให้เราแข่งกับตัวเอง แข่งกับเพื่อน หรือแข่งกับคน (ที่ใช้แอปพลิเคชัน) ทั้งประเทศเลยก็ได้ มีการจัดตารางสถิติ (Leaderboard) ให้เราเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนด้วย ผู้ชนะ หรือผู้ที่ทำได้ตามเป้าหมายก็จะได้รับเหรียญรางวัลมาครอบครอง ถือเป็นการท้าทายตัวเองที่สนุกไม่น้อย

ฟังก์ชัน Challenge ใน Nike+ Run Club
ขอขอบคุณรูปจาก Nike+ Run Club

Strava

มาต่อกันที่แอปพลิเคชันตัวที่ 3 อย่าง Strava ซึ่งไม่ต้องพูดถึงฟีเจอร์ที่ 2 แอปก่อนหน้านี้มีให้ เพราะ Strava ก็มีให้ครบไม่แพ้กัน ทั้งบันทึก เก็บสถิติระยะทางการวิ่ง รวมถึงความเร็วและเวลา ยิ่งไปกว่านั้น Strava ยังมีระบบตารางคะแนน (Leaderboard) เพื่อให้คุณดูสถิติและเทียบฟอร์มการวิ่งของตัวเองกับเพื่อนๆ นักวิ่ง

อีกทั้ง Strava ยังรองรับการออกกำลังกายที่ไม่ใช่แค่การวิ่งแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีกีฬาและกิจกรรมเอ็กซ์ตรีมส์นับสิบ ให้คุณสามารถบันทึกสถิติได้ทั้ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ปีนฝา เล่นเซิร์ฟ หรือการเล่นโยคะ

ฟีเจอร์สุดท้ายของ Strava ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ บีคอน (Beacon) ฟีเจอร์พรีเมียม (เสียเงิน) ที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับคุณ โดยจะทำหน้าที่เป็นสัญญาณเตือนภัย ในกรณีที่คุณขาดการติดต่อกับเพื่อน หรืออยู่ในพื้นที่ที่ไม่ควรอยู่ ระบบจะทำการแจ้งเตือนสถานที่ปัจจุบันของคุณทุก 15 วินาทีให้เพื่อนของคุณรับทราบ และจะส่งเบอร์ติดต่อให้กับเพื่อนที่คุณไว้วางใจ ถึงแม้จะต้องเสียเงินเพิ่ม แต่ถือเป็นการซื้อความปลอดภัยให้ตัวเองที่คุ้มค่าไม่น้อยเลย

Adidas Training by Runtastic

ข้ามมาที่ฝั่งแบรนด์อุปกรณ์กีฬาดังอีกหนึ่งแบรนด์กับ Adidas Training by Runtastic ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่มีฟังก์ชันพื้นฐานครบถ้วน แต่มีคุณสมบัติที่โดดเด่นเป็นพิเศษ นั่นคือ “Plan” ที่จะคอยช่วยวางแผนการออกกำลังกายของเราแบบละเอียดครบถ้วนในหน้าจอเดียว ซึ่งแผนที่ว่า ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงการวิ่งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการออกกำลังกายแบบคาดิโออื่นๆ ด้วย

“Plan” ฟังก์ชันใช้งานง่าย ตอบโจทย์ผู้ต้องการแนวทางเริ่มต้น

ไม่เพียงแค่นั้น แอปนี้ยังมีระบบเก็บสถิติการวิ่งของเราอย่างพร้อมสรรพ ทั้งระยะทาง ความเร็วและแคลอรี่ที่เราเผาผลาญได้ ซึ่งนำเสนอผ่านรูปภาพหรือกราฟที่เข้าใจได้ง่าย ใช้งานไม่ยุ่งยากแต่อย่างใด ขอแนะนำเลยว่า เหมาะกับผู้ใช้งานทุกประเภท ทั้งวิ่งระยะทางสั้นๆ หรือแบบมาราธอน

C25K Trainer

แอปพลิเคชันตัวนี้เหมาะกับผู้ที่เริ่มต้นวิ่งมากที่สุด คุณไม่จำเป็นต้องกังวล หากคุณไม่ผ่านการวิ่งมาก่อนในชีวิต เพราะแอปพลิเคชันนี้จะช่วยวางแผนการวิ่งของคุณ ตั้งแต่ระดับเริ่มต้นไปจนถึงระดับโปร โดยที่คุณสามารถทำตามได้ง่าย และไม่ใช้ร่างกายอย่างหักโหมเกินไปอีกด้วย

ข้อดีอีกอย่างของแอปนี้ คือมีระบบฟีดแบคเเบบเสียงหรือ Audio Coach ที่คอยรายงานสถานะการวิ่งของคุณ เพื่อให้คุณรู้ถึงข้อปรับปรุงและสิ่งที่คุณทำได้ดีในการวิ่งแต่ละครั้ง ซึ่งจะช่วยให้คุณมีกำลังใจการพัฒนาการวิ่งของคุณต่อไป

Charity Miles

แอปพลิเคชันนี้มีความพิเศษและแปลกใหม่สักหน่อยครับ เพราะเป็นแอปพลิเคชันที่กระตุ้นให้คุณออกไปวิ่ง เพื่อที่คุณจะได้ทำบุญนั่นเอง โดย Charity Miles จะบริจาคเงินในทุกๆ 1 ไมล์ (หรือกิโลเมตรครึ่ง) ที่คุณวิ่งไปยังมูลนิธิหรือองค์กรการกุศลที่คุณเลือกได้เอง

แถมคุณยังสามารถสร้างทีมกับเพื่อนๆ เพื่อเพิ่มจำนวนเงินบริจาคได้อีกหลายเท่าตัวด้วยนะครับ ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีมูลนิธิภายในประเทศไทย แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการสร้างความหมายให้กับการวิ่งครั้งต่อไปของคุณ

MyFitnessPal

แอปพลิเคชันตัวสุดท้ายไม่ใช่แอปพลิเคชันเพื่อการวิ่งโดยตรง แต่เป็นแอปพลิเคชันสำหรับผู้ที่ออกกำลังกายด้วยจุดประสงค์ของการลดน้ำหนักหรือกระชับรูปร่าง เพราะเราสามารถจดบันทึกทั้งการออกกำลังกาย ควบคู่ไปกับกิจวัตรการทานอาหาร เพราะการลดน้ำหนักไม่ใช่แค่การออกกำลังกายให้หนักเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการรู้จักควบคุมการทานอาหารของตัวเองด้วย

คุณสามารถติดตามมื้ออาหารของคุณด้วยการใส่เมนูที่คุณรับประทานในวันนั้น เพื่อคำนวณสารอาหารและแคลอรี่ที่คุณได้รับ และถึงแม้ว่าเมนูอาหารไทยจะไม่ค่อยมีให้เลือกในแอปพลิเคชัน แต่เราสามารถเพิ่มเมนูที่เราต้องการ พร้อมใส่สารอาหารและแคลอรี่ได้เอง  ซึ่งเมนูที่คุณใส่จะไปปรากฎอยู่บนเมนูให้คนอื่นๆ ได้เข้ามากดเลือกอีกด้วย

สรุปว่าแอปไหนดีเด่นเรื่องอะไร

หากใครต้องการ “Quick Guide” หรือทางลัดว่าแอปไหนเหมาะกับการใช้งานแบบใด มีจุดเด่นอะไร ผมรวบรวมมาให้สั้นๆ ด้านล่างนี้แล้วครับ

  • แอปที่เหมาะกับมือใหม่หัดวิ่งอย่างแท้จริง – C25K เพราะมีวิธีการที่ละเอียด เข้าใจง่าย และสามารถทำตามได้ทันที
  • แอปที่เปรียบเสมือนชุมชนของนักวิ่ง – Nike+ Run Club และ Strava ด้วยฟีเจอร์ที่ให้คุณติดตามสถิติของเพื่อน พร้อมทั้งแข่งขันกันในภารกิจประจำวัน สัปดาห์หรือเดือนได้อีกด้วย
  • แอปที่ช่วยให้คุณมีกำลังใจในการวิ่งต่อไป – C25K ด้วยระบบ Audio Coach ที่ให้ฟีดแบคกับคุณโดยตรง และ Charity Miles ที่เปลี่ยนทุกระยะทางของคุณให้เป็นเงินบริจาคอันมีความหมาย
  • แอปที่เหมาะกับการติดตามผลอย่างละเอียด – MyFitnessPal ด้วยการวางแผนที่ไม่จำกัดแค่การออกกำลังกาย แต่รวมถึงหลักโภชนาการและการทานอาหารด้วย
  • แอปวิ่งที่มีฟีเจอร์เหมาะสมสำหรับนักวิ่งมากที่สุด – Runkeeper และ Nike+ Run Club ครบถ้วนทุกฟีเจอร์ที่ต้องการ ในระดับการใช้งานที่เข้าถึงง่ายและรวดเร็ว

ถึงเวลาที่จะออกไปวิ่ง

แม้ว่าเรานำเสนอแอปพลิเคชันเป็นร้อยๆ ให้กับคุณ แต่มันจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย หากคุณแค่ดาวน์โหลดแอปมาเก็บไว้ที่เครื่อง โดยที่ไม่ได้ใส่รองเท้าวิ่งเพื่อออกไปเปลี่ยนแปลงตัวเองแต่อย่างใด

สิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ยากที่สุดเช่นกันคือ “การเริ่มต้น” แต่ถึงแม้จะดูยากสักแค่ไหน ผมเชื่อว่าคุณทำได้อย่างแน่นอน และคุณเอง ก็ควรเชื่ออย่างนั้นเช่นกันครับ

“ไม่สำคัญว่าคุณจะวิ่งช้าเพียงใด แต่มันสำคัญที่คุณจะออกมาวิ่งใหม่ในวันต่อไป”

หากสิ่งที่คุณยังขาดอยู่ คือกำลังใจที่ดี พวกเรา Kaidee Blog ก็ขอเป็นกำลังใจให้คุณในการออกไปวิ่ง เพื่อตัวคุณเองนะครับ

สอบถามข้อมูลอื่นๆ หรือสิทธิพิเศษเพิ่มเติม

กรุณาสแกนคิวอาร์โค้ด หรือเพิ่มเพื่อนด้วยไอดีไลน์ @kaideeofficial