ทำอย่างไรเมื่ออยากเป็น ‘ทาส’ เลี้ยงแมวในคอนโด

ทำอย่างไรเมื่ออยากเป็น ‘ทาส’ เลี้ยงแมวในคอนโด

“คินคิน มานี่หน่อยเร็ว” 

“คินคิน แม่บอกแล้วใช่ไหมว่าห้ามปีนขึ้นทีวี” 

“คินคิน จะเข้าไปนอนหรือลูก”

และอีกสารพัดประโยคที่เพื่อนสมัยเรียนมัธยมใช้พูดคุยกับเจ้าแมวเหมียวหน้าตาจิ้มลิ้ม สายพันธุ์สก๊อตทิช โฟล์ด ที่ถูกเลี้ยงดูราวกับเป็นลูกชายอยู่ในคอนโดของเธอ ซึ่งดูเหมือนว่า ‘คินคิน’ ก็พอจะรับรู้ถึงการมีอยู่ของ ‘ทาส’ ผ่านการสะบัดหางบ้าง หรือไม่ก็ผงกหัวขึ้นมามองตามเสียงแจ๋วๆ นั้น 

‘คินคิน’ แมวสายพันธุ์สก๊อตทิช โฟล์ด ถูกพามาเดินเล่นบนดาดฟ้าคอนโดพร้อมสายจูงอย่างดี

เลี้ยงแมวในคอนโดได้หรือไม่ 

“ก่อนจะเลี้ยงคินคิน เราไปถามนิติฯ ก่อนนะ เขาบอกว่าในกฏระเบียบไม่ได้ระบุว่าห้ามเลี้ยง แต่ถ้ามีใครร้องเรียนขึ้นมา เขาก็มีหน้าที่ต้องจัดการไกล่เกลี่ยสร้างข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้ทุกคนในคอนโดยังอยู่ได้อย่างสบาย พอได้ยินแบบนี้ เราเลยตัดสินใจรับคินคินเข้ามาอยู่”

เลี้ยงแมวในคอนโดได้หรือไม่? เป็นข้อถกเถียงมานานถึงความเหมาะสม เนื่องจากคอนโดเป็นสถานที่ที่มีผู้อยู่อาศัยรวมกันจำนวนมาก การมีสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นมาย่อมส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัย ไม่ว่าในแง่พื้นที่ใช้สอยส่วนกลางที่ต้องแยกเป็นสัดส่วน การดูแลเรื่องสุขอนามัยของทั้งคนและสัตว์ รวมถึงการเคารพหรือไม่ละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคล 

จากข้อกังวลดังกล่าว คอนโดส่วนใหญ่จึงตัดปัญหาด้วยการออกกฏระเบียบห้ามเลี้ยงสัตว์อย่างชัดเจน แต่มีอีกหลายคอนโดที่ไม่ระบุห้ามเป็นลายลักษณ์อักษร จึงเป็นช่องว่างให้หลายคนแอบเลี้ยงสัตว์ในห้อง ขณะที่นิติบุคคลคอนโดเองก็ทำเหมือนปิดตาข้างหนึ่ง กล่าวคือจะดำเนินการห้ามปรามหรือปรับเงินค่าเสียหายก็ต่อเมื่อมีคนมาร้องเรียนหรือไม่รับความเดือนร้อนจากสัตว์ที่แอบเลี้ยงไว้เท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่ามีการออกแบบคอนโดในลักษณะ Pet-Friendly เพื่อเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดมากขึ้น แต่ยังคงจำกัดจำนวนสัตว์เลี้ยงต่อห้องเพื่อให้เหมาะสมกับขนาดและสภาพแวดล้อมของคอนโด รวมทั้งเงื่อนไขยิบย่อย เช่น มีใบรับรองสัตว์เลี้ยงจากสัตวแพทย์ (Pet Certificate) เพื่อการันตีว่าสุนัขหรือแมวเลี้ยงเหล่านั้นจะไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่นในคอนโด  

กับคำถามที่ว่า “เลี้ยงแมวในคอนโดได้หรือไม่?” จึงเป็นเรื่องที่ผู้ที่อยากเลี้ยงควรพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งความสามารถในการดูแลสัตว์เลี้ยงให้มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่แข็งแรง ไปจนถึงศึกษากฏระเบียบของคอนโด คุยกับนิติฯ คอนโดให้รู้เรื่อง พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และอย่าลืมคิดถึง ‘ใจเขา ใจเรา’ ด้วยความจริงข้อหนึ่งว่า สัตว์เลี้ยงที่น่ารักของเรา อาจไม่เป็นที่รักสำหรับทุกคน

มุมโปรดริมระเบียงคอนโด กับกิจกรรมดูนกสุดเพลิดเพลินของคินคิน

เลี้ยงแมวในคอนโดด้วยระบบปิดดีกว่า

กว่า 8 เดือนแล้วที่ ‘คินคิน’ ย้ายเข้ามาอาศัยในห้องคอนโดขนาด 48 ตร.ม. ย่านอุดมสุข ภายใต้การดูแลแบบระบบปิด คือ เลี้ยงในพื้นที่ที่กำหนด หรืออยู่ในความควบคุมตลอด (เช่น มีปลอกคอ มีสายจูง ใส่กระเป๋าเมื่อพาไปข้างนอก) ไม่มีการปล่อยให้เจ้าตัวเล็กออกไปเพ่นพ่านอิสระ ซึ่งเป็นระบบการเลี้ยงแมวที่ได้รับความนิยม เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงในคอนโด และสัตวแพทย์เองก็แนะนำวิธีนี้ 

เนื่องจากสามารถป้องกันแมวสูญหายได้ โดยสถิติข้อมูล ‘สัตว์หาย’ (Lost & Found) ของจส.100 ช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2563 พบว่ามีการรับแจ้งสัตว์หายทั้งสิ้น 527 ตัว ในจำนวนนี้เป็นแมวถึง 215 ตัว นอกจากนี้ยังลดความเสี่ยงการติดโรคต่างๆ จากภายนอก และลดอุบัติเหตุที่อาจทำให้แมวบาดเจ็บได้

แม้ในบางมุมมองของการเลี้ยงแมวระบบปิดจะดูใกล้เคียงกับทารุณกรรมสัตว์ แต่โดยธรรมชาติ น้องแมวชอบที่จะสร้างและปกป้องอาณาเขตของตัวเองอยู่แล้ว และแมวที่ถูกเลี้ยงดูอย่างดี ได้รับสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่มันต้องการจริงๆ มักมีความสุขและรู้สึกปลอดภัยกับการถูกเลี้ยงในพื้นที่จำกัดมากกว่า 

ดูแลสุขอนามัยให้เจ้านายน้อยเป็นประจำคือคุณสมบัติของทาสแมวที่ดี

สังเกต เอาใจใส่ ให้ความรัก คุณสมบัติพื้นฐานของทาสแมว 

ไม่ว่าจะเลี้ยงแมวในบ้านหรือในคอนโดล้วนต้องการคุณสมบัติผู้เลี้ยงแบบเดียวกันนั่นคือ ‘สังเกต เอาใจใส่ และให้ความรัก’ เพราะแมวแต่ละตัวมีนิสัยหรือพฤติกรรมไม่เหมือนกันจึงต้องอาศัยเวลาในการศึกษาดูใจเพื่อเจ้าของแมวจะสามารถปฏิบัติตัว จัดเตรียมข้าวของที่จำเป็นสำหรับน้องแมวได้เหมาะสมเพียงพอสำหรับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเจ้าแมวตัวนุ่มนิ่ม   

“ในห้องมีเครื่องให้อาหารอัตโนมัติ กดให้เป็นเวลาตามที่สังเกตมาว่าคินคินจะกินอาหารตอนไหนบ้าง เราจะไม่เทอาหารทิ้งไว้ทั้งวันเหมือนคนอื่น เพราะนิสัยแมวมันกินอาหารจากกลิ่น แม้จะมีหลายคนพูดว่าสุดท้ายถ้าหิวมันก็ต้องกินอยู่ดี ความคิดนี้ไม่ผิดหรอก แต่ถามว่าแล้วแมวคุณมีความสุขไหมล่ะ? คนเรายังชอบทานอาหารสดใหม่เลย แมวก็เหมือนกัน” นี่เป็นรายละเอียดเล็กๆ ที่ ‘ทาสแมวคินคิน’ เล่าให้ฟัง  

การเลี้ยงแมวจึงไม่ใช่แค่ให้อาหารหรือเรียกเขามากอด มาเล่น ให้หายเหงาแล้วจบกัน แต่ยังมีดีเทลความเอาใจใส่ที่ทาสแมวต้องคอยเสิร์ฟให้เป็นกิจวัตรประจำ อาทิ 

  • เช็ดหูแมว เพื่อลดการสะสมของสิ่งสกปรก และไรที่อาจนำไปสู่โรคช่องหูอักเสบ
  • แปรงขน โดยธรรมชาติแมวผลัดขนทุกวัน การแปรงขนจะช่วยลดปัญหาก้อนขนในทางเดินอาหาร เนื่องจากแมวนั้นชอบเลียทำความสะอาดตัวเอง ด้วยลิ้นสากคล้ายหวีของแมวทำให้มีโอกาสเผลอกลืนขนที่หลุดร่วงเข้าไปตกค้างจนอาจอุดตันลำไส้ได้
  • เตรียมที่ฝนเล็บ เนื่องจากสัญชาตญาณแมวจะฝนเล็บเพื่อเปิดทางให้เล็บใหม่ที่แหลมคมงอกออกมาได้อย่างสะดวก เราจึงควรเตรียมที่ฝนเล็บไว้ให้น้องแมวได้ใช้งาน และเพื่อป้องกันเฟอร์นิเจอร์สวยๆ ให้รอดพ้นจากกรงเล็บคมๆ นั้น
  • ทำความสะอาดกระบะทรายแมว ถือเป็นจุดที่ชาวคอนโดต้องระวังที่สุด เพราะกลิ่นเหม็นจากการขับถ่ายของแมวมักสร้างปัญหากับเพื่อนข้างห้องได้ง่าย โดยควรเก็บมูลแมวใส่ถุงปิดมิดชิดและทิ้งทุกวัน รวมถึงเปลี่ยนทรายใหม่เมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนด
  • ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ เป็นการเช็คว่าแมวของเรายังมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง รวมถึงได้รับวัคซีนที่เหมาะสมกับช่วงวัย การไปพบสัตวแพทย์เป็นประจำยังช่วยให้เจ้าของได้ความรู้ในการดูแลแมวเพิ่มเติมอีกด้วย

และถึงแม้จะเป็นการเลี้ยงในระบบปิด แต่สิ่งที่ผู้เลี้ยงไม่ควรละเลยคือ ‘การทำหมันแมวที่ช่วยจำกัดการขยายตัวของประชากรแมวและยังส่งผลดีต่อการเลี้ยงดูในหลายๆ ด้าน สำหรับการทำหมันแมวตัวเมียจะช่วยลดอาการติดสัด ไม่ส่งเสียง ‘หง่าว’ ให้เป็นที่รบกวนเราและเพื่อนบ้าน ลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ เช่น มดลูกอักเสบ มะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม เป็นต้น ในขณะที่การทำหมันแมวตัวผู้ จะทำให้พฤติกรรมก้าวร้าว ดุร้าย ชอบหนีเที่ยวลดน้อยลง รวมไปถึงการยกขาฉี่เรี่ยราดเพื่อบอกอาณาเขตความเป็นเจ้าของ 

คินคินกับประตูบานจิ๋ว ช่วยให้เขาเข้าออกจากห้องนอนและเดินเล่นตามส่วนต่างๆ ของห้องได้อิสระ

แมวอ้วน ไม่ใช่วิธีการเลี้ยงแมวที่ดี 

“คนไทยมีทัศนคติผิดๆ ว่า แมวอ้วนแล้วดี อ้วนแล้วน่ารัก แต่หมอของคินคินบอกว่า จริงๆ แล้วไม่ดีเลย เพราะแมวเสี่ยงเป็นโรคเยอะมาก เหมือนคนนั่นแหละพออ้วนแล้ว โรคภัยอื่นๆ ก็ตามมา หัวใจ เบาหวาน ความดัน ไต มาครบเซ็ต” 

โรคอ้วนเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำหรับการเลี้ยงแมวในพื้นที่ที่จำกัดอย่างในคอนโด ซึ่งเป็นผลมาจากที่พวกมันไม่ได้มีพื้นที่กว้างใหญ่พอที่จะกระโจนออกไปเที่ยวเล่นเหมือนแมวที่ถูกเลี้ยงอย่างอิสระ บวกกับอาหารการกินที่เป็นปัจจัยมาจากผู้เลี้ยงโดยตรง 

“อาหารแมวมีหลายเกรด และคุณภาพก็เป็นไปตามราคา ซึ่งตรงนี้เราว่ากันไม่ได้ เพราะแต่ละคนมีกำลังทรัพย์ที่ต่างกัน สำหรับเราพอจ่ายได้ก็เลือกอาหารดีหน่อยอย่างพวกอาหาร Holistic ที่มีค่าโปรตีนสูงเหมาะกับความต้องการของแมว แม้ค่าอาหารจะแพงกว่าเกรดทั่วไปเกือบ 3 เท่า แต่ถ้าคิดในระยะยาว เราไม่ต้องจ่ายค่ารักษาแมวจากโรคต่างๆ ก็น่าจะคุ้มกว่า” เจ้าของแมวคินคินเล่าให้ฟังเรื่องการเลือกอาหารแมว

นอกจากอาหารหลักแล้ว การเลือกขนมแมวเลียหรืออาหารกระป๋องเพื่อช่วยเจริญอาหารก็เป็นสิ่งที่ควรเลือกอย่างพิถีพิถันและควรให้ ‘เจ้านาย’ อย่างมีสติ เพราะอาหารเสริมเหล่านี้หากแมวได้รับมากเกินไปจะทำให้เป็นโรคอ้วนได้และอาจแถมด้วยโรคไตที่มีอัตราการเป็นในแมวสูงเป็นอันดับต้นๆ 

อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้แมวไม่อ้วนจ้ำม่ำเกินไปคือการเล่นกับเขาหรือหากิจกรรมให้ทำบ้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในความต้องการพื้นฐานของเจ้าแมวเหมียวที่จะได้มีพื้นที่สำหรับเล่นซน พบกับความท้าท้าย ได้ผจญค้นหาสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ตกแมว อุโมงค์ หรือชิ้นใหญ่หน่อยก็ต้องยกให้ ‘คอนโดแมว’ ที่ไม่เพียงเป็นที่ออกกำลังกาย ที่พักผ่อนเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ลับเล็บตามสัญชาตญานดั้งเดิมของแมวได้อีกด้วย

“นอกจากให้อาหารแล้ว การเล่นก็เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรากับคินคินอีกแบบหนึ่ง ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้อยู่คอนโดอย่างโดดเดี่ยวเหมือนที่ผ่านมา แต่มีเขาเป็นเพื่อน แบ่งปันทั้งทุกข์และสุขได้พร้อมกัน เราคิดนะว่าถ้าใครเป็นโรคซึมเศร้า แล้วได้เลี้ยงแมว อาการคงดีขึ้น เพราะเขาช่วยบำบัดจิตใจเราได้จริงๆ ”

สรุปส่งท้ายก่อนตัดสินใจเลี้ยงแมวในคอนโด

ไม่ว่าจะแอบเลี้ยงแมว หรือเลี้ยงอย่างเปิดเผยในคอนโด สิ่งสำคัญที่ “ทาสแมว” ต้องปฏิบัติก็คือการเคารพสิทธิเพื่อนร่วมคอนโดเพื่อการอยู่อาศัยอย่างสันติ และตระหนักเสมอว่า “แมว” คือสิ่งมีชีวิตและจิตใจที่ต้องให้การเลี้ยงดูห่วงใยเฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ที่ต้องการ “ความสุข” ทั้งกายและใจไม่ต่างกัน

สอบถามข้อมูลอื่นๆ หรือสิทธิพิเศษเพิ่มเติม

กรุณาสแกนคิวอาร์โค้ด หรือเพิ่มเพื่อนด้วยไอดีไลน์ @kaideeofficial