Food Waste เปลี่ยน “ขยะอาหาร” ให้เป็นประโยชน์

Food Waste เปลี่ยน “ขยะอาหาร” ให้เป็นประโยชน์

สรุปบทความ

สิ่งที่เราทำวันนี้ อาจจะไม่ได้เห็นผลทันทีในวันถัดไป แต่ถ้าเราทุกคนให้ความร่วมมือ ทำสิ่งดีๆ ไปพร้อมกัน จากหนึ่งคนก็จะกลายเป็นหลายคน ปัญหาขยะอาหารก็จะดีขึ้นได้ในอนาคต

หลายคนอาจมองว่า “ขยะอาหาร” หรือ “Food Waste” เป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเรื่องของอาหาร อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่านั้น

นึกดูง่ายๆ ว่าในหนึ่งวันเรากินอาหารเหลือมากน้อยแค่ไหน มีเศษอาหารเท่าไรที่ถูกทิ้งไปโดยที่ยังมีคุณภาพดี บริโภคได้ เอาง่ายๆ ไม่ต้องนึกย้อนไปไหนไกล แค่วันนี้วันเดียว ก็พอจะเห็นภาพกันแล้วไหมคะ ว่าตัวเราเองเป็นหนึ่งในผู้เริ่มต้นในห่วงโซ่อุปทาน ที่ทำให้เกิด “วิกฤตขยะอาหาร” ที่แท้จริง

อาหารเหลือ

วิกฤตขยะอาหาร Food Waste คืออะไร?

ก่อนที่เราจะบอกเล่าเรื่องราวอื่น เราขอพาทุกคนไปตระหนักรู้กับคำว่า ขยะอาหาร (Food Waste) เป็นพื้นฐานกันก่อน โดยคำนี้หากแปลตรงตัวก็คือคำว่า “ขยะ+อาหาร” เศษอาหารสภาพดี ที่เราเหลือทิ้งเหลือขว้างในแต่ละวันนั่นเอง

แม้อาหารที่เราเหลือในแต่ละวัน ปริมาณอาจจะน้อยนิด ทว่าคำว่าน้อยนิดรวมกันเรื่อยๆ ก็กลายเป็นคำว่า “มหาศาล” ได้ไม่ยาก อย่าทำให้การกินเหลือกลายเป็นความเคยชิน แล้วหลงไว้เพียงแค่ความรู้สึกเสียดาย ในทุกครั้งที่เราเททิ้ง ฝึกการตักอาหารแต่พอดี ปรุงแต่พออิ่ม สิ่งง่ายๆ ที่เริ่มต้นได้จากตัวเราเอง

ยิ่งพอได้ศึกษาเรื่องนี้มากขึ้น ข้อมูลเกี่ยวกับขยะอาหารเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ที่กระทบใจและปากท้องของใครอีกหลายคน ความอิ่มหนำสำราญ กินทิ้งกินขว้างของเรา ทำให้เราหลงลืมไปว่า Food Waste เหล่านั้น รวมๆ กันแล้ว กลายเป็นขยะจำนวน 1,300 ล้านตัน/ปี หรือ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตในโลก

ขยะอาหารวิกฤตกว่าที่เราคิด

เศษอาหารเหลือทิ้ง

สังเกตกันไหมคะ ว่าอาหารที่เราเหลือในแต่ละครั้ง มักเป็นของคุณภาพดี รสชาติอร่อย สามารถบริโภคต่อได้แบบสบายๆ แถมบางครั้งเรายังเลือกที่จะทิ้งอาหารเหล่านั้นไปก่อนที่จะหมดอายุด้วยซ้ำ โดยกระบวนการที่ว่านั้น สะท้อนไปยังตัวผู้บริโภคได้ดี ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของทุกๆ อย่าง

ในทางกลับกัน ระหว่างที่เราอิ่มจนกินต่อไม่ไหว จนตัดใจทิ้งอาหารเหล่านั้นอย่างง่ายดาย อีกมุมหนึ่งยังพบว่า ในโลกกลมๆ ใบนี้ ยังมีเพื่อนร่วมโลกเรา จำนวน 1 ใน 8 ประสบปัญหาอดอยาก ขาดแคลนอาหาร รวมถึง 1 ใน 4 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีภาวะขาดสารอาหาร

กว่าร้อยละ 60 ของขยะมูลฝอย มาจากขยะอาหาร และยังมีอีกกว่า 690 ล้านคนทั่วโลกที่ขาดแคลนอาหาร

อ้างอิงข้อมูล : องค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2561

เปลี่ยนขยะอาหาร Food Waste ให้เกิดประโยชน์

ยอมรับว่าเราเองเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยสนใจเรื่องนี้มาก่อน อิ่มเท่าไรก็พอเท่านั้น ทิ้งเป็นทางเลือกสุดท้าย แต่พอได้มาศึกษาเรื่องขยะอาหารอย่างจริงๆ จังๆ ก็พบว่า เป็นเรื่องที่ไม่ได้ไกลตัวเรา และไม่ได้ลำบากเกินไปที่จะเริ่มต้น มีวิธีมากมาย ที่จะทำให้อาหารเหล่านั้นเกิดประโยชน์สูงสุด มาดูกันว่ามีวิธีไหน

1.เริ่มจากต้นทาง วางแผนอย่างดีก่อนซื้ออาหาร

Zero watse

ก่อนจะวางแผนลดขยะอาหาร Food Waste ไปถึงขั้นตอนไหน เราลองเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการวางแผนก่อนที่จะซื้ออาหารทุกครั้ง เข้าใจว่า “ความหิว” ไม่เข้าใครออกใคร อาหารอะไรก็น่ากินไปหมด สุดแสนละลานตา …เราเองก็เป็นแบบนั้น

หลายครั้งความหิวเหล่านั้น กลับมาทำร้ายเราย้อนหลัง ด้วยปริมาณอาหารที่มากเกินความจำเป็น จนเราเองไม่สามารถยัดของอร่อยทั้งหลายลงไปได้หมด กลายเป็นความทรมานทางกาย ที่อิ่มจนแน่น และทรมานทางใจ ที่ต้องปล่อยให้อาหารพวกนั้นเหลือทิ้ง ไปโดยเปล่าประโยชน์

หากเราวางแผนซื้ออาหารได้บ่อยขึ้น ปัญหาขยะอาหารเหล่านี้ก็จะลดลงได้ อย่าให้ความหิวนำทางเรามากเกินไป ตั้งสติและพิจารณาให้ดี ว่าปริมาณอาหารมันมากเกินพื้นที่ในกระเพาะไปไหม หรือถ้าอยากจริงๆ ของเหล่านั้น เก็บได้นานไหม

2. นำอาหารที่ยังบริโภคได้ ไปทำให้เกิดประโยชน์

วิธีนี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่ไม่ต้องให้เรากล้ำกลืนอาหาร ที่ไม่อยากกิน ถ้าสุดท้ายแล้วมัน “ฝืน” ไม่ไหวจริงๆ ก็หาแนวทางให้อาหารขยะดังกล่าว ไปทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ส่วนขั้นตอนการกำจัดขยะอาหารเท่าที่เราเห็นในหลายๆ ประเทศนั้น มีทั้งแบบนำอาหารที่ใกล้หมดอายุและยังสามารถบริโภคได้ ส่งไปต่อยังมูลนิธิต่างๆ หรือแจกจ่ายไปยังคนไร้บ้าน แล้วยังเพิ่มแรงจูงใจไปอีกขั้น ด้วยการให้นำหลักฐานดังกล่าวไปลดหย่อนภาษีได้มากกว่าครึ่ง ไปจนถึงมีกฏหมายปรับเงินบริษัทที่มีอาหารขยะมากเกินที่กำหนด

ทิ้งอาหาร

การส่งต่อขยะอาหารในไทย

ส่วน “การส่งต่อขยะอาหารในไทย” ก็เริ่มมีให้เห็นบ้างแล้ว ซึ่งตัวที่เห็นผ่านตาอยู่บ่อยๆ คือตัวแอปพลิเคชัน “Yindii” แหล่งรวมอาหารจากร้านดังในกรุงเทพฯ อย่าง Sofitel Sukhumvit, Drop by Dough, Ohana Poke ฯลฯ ที่มารูปแบบ Mystery box หมายความว่าคุณไม่สามารถเลือกอาหารได้อย่างชัดเจน ระบุได้เพียงประเภท

จากนั้นร้านที่คุณเลือกจะส่งอาหารที่ขายไม่หมดในวันนั้นๆ ให้คุณอีกที ในราคาที่ถูกกว่าปกติเกินครึ่ง (ไม่รวมค่าส่ง) และแน่นอนว่า อาหารเหล่านั้นจะถูกจัดส่งในช่วงเย็นๆ ไปถึงหัวค่ำ ในเวลาที่ร้านนั้นๆ ใกล้ปิด ซึ่งใครที่ยอมรับข้อเสนอได้ รอไหว ก็เป็นอีกทางเลือกที่คุ้มค่าอยู่ไม่น้อย

Yindii App

3.นำขยะอาหารไปแปรรูปเป็นสินค้าอื่นๆ

มาที่แนวทางสุดท้าย เมื่ออาหารเหล่านั้นทำประโยชน์ในฐานะอาหารต่อ
ไปไม่ได้แล้ว เวย์ที่หลายๆ คนเลือก คือการนำเศษอาหารไปแปรสภาพให้กลายเป็น
อย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นการนำไปหมักจนกลายเป็นปุ๋ย เพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม
การเกษตร

รวมถึงกรณีอาหารสดที่ใกล้หมดอายุ แล้วหลายๆ คนเลือกที่จะแปรรูป
ให้อาหารเหล่านั้นยังสามารถบริโภคได้อยู่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปให้เก็บได้นาน
ขึ้น ด้วยกรรมวิธีทางอาหารที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น หมัก ดอง ตากแห้ง ฯลฯ ซึ่ง
เชื่อว่าแทบทุกคนคุ้นชินกันดีอยู่แล้ว (กล้วยตาก ทุเรียนทอด ผลไม้แช่อิ่ม)

ทางออกของขยะอาหาร

ทั้งสามวิธีที่เราเลือกมานั้น เป็นวิธีที่ใช้กันในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงภาคเอกชนของไทย ที่พักหลังเริ่มจะให้ความสำคัญกับขยะอาหารมากขึ้นตามลำดับ เราเชื่อว่าหากทุกคนเอาจริงเอาจัง เริ่มปรับที่ตัวเองวันละนิด เพิ่มความตระหนักรู้ เห็นคุณค่าวัตถุดิบและอาหารต่างๆ มากขึ้น ก็น่าจะช่วยให้ปัญหา Food Waste ลดลงได้บ้าง

แน่นอนว่าสิ่งที่เราทำวันนี้ อาจจะไม่ได้เห็นผลทันทีในวันถัดไป แต่ถ้าเราทุกคนให้ความร่วมมือ ทำสิ่งดีๆ ไปพร้อมกัน จากหนึ่งคนก็จะกลายเป็นหลายคน ปัญหาขยะอาหารก็จะดีขึ้นได้ในอนาคต เพื่อตัวเราเอง และอีกหลายล้านคนที่จะมีชีวิตคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้กินอิ่มนอนหลับ ไม่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนอาหารมากเท่าปัจจุบัน

สอบถามข้อมูลอื่นๆ หรือสิทธิพิเศษเพิ่มเติม

กรุณาสแกนคิวอาร์โค้ด หรือเพิ่มเพื่อนด้วยไอดีไลน์ @kaideeofficial