รถไฟฟ้าสายสีส้มและสีชมพู … หนทางสู่โอกาสใหม่บนทำเลอนาคต

รถไฟฟ้าสายสีส้มและสีชมพู … หนทางสู่โอกาสใหม่บนทำเลอนาคต

รถไฟฟ้าสายสีส้ม สายสีชมพู คือสองไฮไลท์การก่อสร้างเมกะโปรเจ็คของคนกรุงเทพที่ใกล้จะได้เวลานับถอยหลังเพื่อใช้บริการเข้าไปทุกที พร้อมกับความคึกคักด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มปรากฏออกมาเป็นรูปเป็นร่างผ่านโครงการที่อยู่อาศัยทั้งคอนโด บ้านเดี่ยว และทาวน์โฮม ที่ผุดขึ้นยาวตลอดสองฝากฝั่งเส้นรถไฟฟ้าทั้งสองสาย 

ยิ่งไปกว่านั้นปลายทางของรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีชมพูที่มาบรรจบกัน ณ สถานีมีนบุรี ยังถือเป็นการผนึกกำลังสร้างโอกาสบนทำเลอนาคตอย่างมีนบุรีให้กลายเป็นเซ็นเตอร์เศรษฐกิจใหม่แห่งกรุงเทพตะวันออกที่ว่ากันว่าจะสามารถทัดเทียมสีลม-สาธรได้เลยทีเดียว 

ทำไมรถไฟฟ้าสายสีส้มและรถไฟฟ้าสายสีชมพูถึงมีอิทธิพลต่อมีนบุรีและกรุงเทพฯ ตะวันออกได้ขนาดนี้ เราไปค้นหาคำตอบด้วยกัน  

รถไฟฟ้าสายสีส้ม เชื่อม New CBD สู่กรุงเทพตะวันออก

แผนที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีส้มที่วิ่งผ่านกรุงเทพฯ จากฝั่งตะวันตกสู่ตะวันออก
ภาพจาก www.mrta-orangelineeast.com

หากเรามองแผนผังโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มแบบ Full Scale จะพบว่าเป็นเส้นทางที่วิ่งยาวตั้งแต่กรุงเทพฯฝั่งตะวันตก เริ่มต้นที่ตลิ่งชัน บางขุนนนท์ ตัดผ่านเข้ากรุงเทพฯ ชั้นในอย่างราชเทวี ราชปรารภ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ และมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกตามเส้นถนนรามคำแหง โดยมีปลายทางเป็นมีนบุรีและสุวินทวงศ์ รวมระยะทางกว่า 40 กิโลเมตร 29 สถานี (แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 23 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) 

โดยตลอดสายสีส้มนี้ยังเป็นเส้นทางที่ตัดกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ หรือมี Interchange Station มากถึง 9 สาย 9 สถานี จนอาจเรียกว่าเป็นเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมกรุงเทพไว้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดสายหนึ่งก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าจะเดินทางไปโซนไหนของกรุงเทพฯ ก็สามารถอาศัยรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นเส้นทางหลักเพื่อคอนเนคต่อไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการ 

ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มเฟสแรก เริ่มที่ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หรือที่รู้จักกันดีว่าเป็นรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ระยะทางประมาณ 22.57 กิโลเมตร โดยวิ่งตามแนวถนนวัฒนธรรม ผ่านแยกพระราม 9-ประดิษฐ์มนูธรรม เข้าสู่ถนนรามคำแหงและวิ่งยาวจนถึงแยกรามคำแหง – สุวินทวงศ์ อันเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) นั่นเอง ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้ากว่า 82 เปอร์เซ็นต์ และมีแผนที่จะเปิดให้บริการในต้นปี 2568 

ส่วนเฟสสองที่เป็นรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ กำลังอยู่ระหว่างค้นหาผู้ชนะประมูล และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2565 พร้อมใช้งานในปี 2570

ภาพจาก Google Street View บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นหนึ่งในโซนที่มีความคึกคักบนถนนรามคำแหง

รถไฟฟ้าสายสีส้มปลุกถนนรามคำแหงเป็นทำเลน่าจีบ 

การที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกมากกว่าครึ่งหนึ่งทอดตัวยาวไปกับถนนรามคำแหง ทำให้โอกาสการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บนถนนเส้นนี้เกิดขึ้นตามเช่นกัน ทั้งในส่วนของ Residential และ Commercial ที่มีดีเวลอปเปอร์มากหน้าหลายตาต่างแวะเวียนมาหาทำเลดีๆ บนถนนรามคำแหง 

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เผยดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาไตรมาสแรกปี 2564 พบว่าทำเลที่ดินแนวรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้นมีการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 3 รองจากสายสีน้ำเงินและสายสีทอง หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 

ทั้งยังขานรับกับร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับล่าสุด (แต่ยังไม่มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19) ที่พบว่าตลอดสองฝั่งถนนรามคำแหงนั้น มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นสีส้ม หรือเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาปานกลาง ซึ่งปรับขึ้นจากเดิมที่เป็นพื้นที่อาศัยหนาแน่นน้อย และยังขยายความหนาแน่นสู่พื้นที่เชื่อมต่ออย่างวังทองหลาง บึงกุ่ม และคันนายาว จนครอบคลุมเกือบครบทุกพื้นที่หลักของกรุงเทพตะวันออกเลยก็ว่าได้   

นอกจากนี้ยังแซมด้วยพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่พาณิชยกรรมในช่วงถนนหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง แยกลำสาลี และย่านมีนบุรี ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีของการขยายตัวทางธุรกิจและการเติบโตของเขตเมือง โดยมีถนนรามคำแหงเป็นจุดต่อสำคัญจาก New CBD อย่างรัชดา เพชรบุรี พระราม 9 

แน่นอนว่าอานิสงค์ของความเจริญเติบโตที่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในย่านนี้จะได้แบบเต็มๆ คือความครบครัน ทั้งด้านการเดินทางที่เลือกสัญจรได้ครบทั้งทางรถยนต์ รถประจำทาง เรือโดยสารคลองแสนแสบ ทางด่วน และเร็วๆ นี้กับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งจะทำให้การเดินทางเข้า-ออกใจกลางเมืองสั้นกระชับ และรวดเร็วกว่าเดิม ไปจนถึงความครบครันด้านการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งแหล่งชอปปิ้งทันสมัย ตลาดสด ร้านอาหาร สถานศึกษา โรงพยาบาล แหล่งท่องเที่ยว เรียกว่ามีดีไม่แพ้โซนกรุงเทพชั้นในเลยทีเดียว 

รถไฟฟ้าสายสีชมพู เส้นทางที่เติบโตไม่หยุด

เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู
ภาพจาก www.mrta-pinkline.com

ถ้าเรามองว่ารถไฟฟ้าสายสีส้มเชื่อมกรุงเทพตะวันตกและตะวันออกด้วยการวิ่งผ่าใจกลางเมือง รถไฟฟ้าสายสีชมพูก็คือตัวกลางเชื่อมเมืองทั้งสองฝั่งที่จับกลุ่มผู้ใช้ที่อยู่โซนรอบนอกทางด้านเหนือของกรุงเทพฯ โดยมีจุดเริ่มอยู่ที่ศูนย์ราชการนนทบุรี ก่อนจะวิ่งผ่านโลเคชันสำคัญๆ อย่างแยกปากเกร็ด เมืองทองธานี หลักสี่ และเข้าสู่ถนนรามอินทรายาวจนไปบรรจบรถไฟฟ้าสายสีส้มที่สถานีมีนบุรีนั่นเอง 

แม้ก่อนหน้านี้จะมีหลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูนั้นไม่คุ้มค่า เพราะไม่ได้เป็นเส้นทางเข้าเมืองโดยตรงเหมือนอย่างรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ และผู้ใช้บริการอาจบางตา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ดินในย่านนี้ยังคงเป็นที่ต้องการของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อยู่ดี 

เห็นได้จากโครงการที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูงที่ทยอยเปิดตัวไปตามความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งความน่าสนใจของโครงการเหล่านั้น มักชูจุดเด่นด้านความพรีเมียมของสิ่งอำนวยความสะดวก พื้นที่ใช้สอยกว้างขวาง และที่สำคัญคือจ่ายในราคาที่เอื้อมถึงได้ง่ายกว่าทำเลอื่นๆ 

โดยเฉพาะช่วงปลายถนนรามอินทราจนถึงสถานีมีนบุรีนั้นขึ้นชื่อว่าเป็นโซนอยู่อาศัยที่มีความคึกคัก มีการผสมผสานระหว่างชุมชนดั้งเดิมกับหมู่บ้านสมัยใหม่ ท่ามกลางสิ่งอำนวยความสะดวกที่สมบูรณ์แบบทั้งห้างสรรพสินค้า ตลาด โรงพยาบาล โรงเรียน สนามกีฬา หรือแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ  

รถไฟฟ้าสายสีส้ม X สายสีชมพู X มีนบุรี ทำเลอนาคตที่รอให้คุณคว้าโอกาส

การที่รถไฟฟ้าสายสีส้มและรถไฟฟ้าสายสีชมพูมีปลายทางที่เดียวกันอย่างมีนบุรีนั้น อาจไม่ต่างจากวรรคทองที่ว่า “ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงโรม” ที่หมายถึงความเป็นศูนย์กลางที่กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าของมีนบุรีให้กลายเป็นฮับทางด้านการลงทุนในอนาคตที่ยกระดับเทียบเท่าย่านเศรษฐกิจ CBD 

โดยมีเส้นทางรถไฟฟ้าทั้งสองสายเป็นแรงขับเคลื่อนความเจริญจากใจกลางเมืองสู่โซนกรุงเทพฯ ตะวันออก พร้อมเสริมทัพด้วยโครงข่ายคมนาคมเดิมที่อยู่ในรัศมีใกล้ๆ อย่างถนนกาญจนาภิเษกหรือถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ถนนมอเตอร์เวย์ ที่เชื่อมต่อไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และสนามบินสุวรรณภูมิได้อย่างง่ายดาย 

เหล่านี้เป็นตัวเร่งให้เกิดการลงทุนในย่านมีนบุรีอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นโครงการจากภาครัฐหรือจากเอกชนที่เข้ามาพัฒนาและเพิ่มมูลค่าที่ดินให้สูงขึ้น รวมถึงในระดับผู้บริโภคที่ก็สามารถคว้าโอกาสดีๆ บนทำเลนี้ได้เช่นกันผ่านการจับจองที่อยู่อาศัย

หนึ่งในนั้นคือโครงการ The Origin Ram 209 Interchange คอนโดมิเนียมแนวสูงที่จับจองที่ดินระหว่างรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีชมพูได้อย่างเหมาะเจาะ พร้อมชูจุดขายด้านราคาเริ่มต้นเพียง 1 ล้านกลางๆ แถมด้วย Facilities แบบจัดเต็ม ซึ่งหากใครที่กำลังมองหาคอนโดไว้อยู่เองหรือลงทุนในอนาคต โครงการนี้นับว่าน่าสนใจอยู่ไม่น้อย และเชื่อได้เลยว่าหากรถไฟฟ้าทั้งสองสายเปิดให้บริการเต็มระบบแล้ว ราคาจะขยับปรับขึ้นอีกอย่างแน่นอน

สอบถามข้อมูลอื่นๆ หรือสิทธิพิเศษเพิ่มเติม

กรุณาสแกนคิวอาร์โค้ด หรือเพิ่มเพื่อนด้วยไอดีไลน์ @kaideeofficial