แฟชั่นไม่มีเพศ: บทสัมภาษณ์ผู้ชายคนหนึ่งกับการเป็นตัวเองผ่านแฟชั่น

แฟชั่นไม่มีเพศ: บทสัมภาษณ์ผู้ชายคนหนึ่งกับการเป็นตัวเองผ่านแฟชั่น

เสื้อผ้าถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้กำหนดเพศของผู้สวมใส่มาเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะในมุมไหน หรือประเทศใดบนโลกนี้ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และสังคมล้วนหล่อหลอมให้เสื้อผู้ชายและผู้หญิงต้องแตกต่างกัน

คนที่ต้องการฉีกออกจากกรอบที่กล่าวมา มักถูกพิจารณาจากสังคมด้วยมุมมองหลากหลายแบบ ทั้งเป็นคนบ้าไม่สนโลก เป็นขบถทางวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งเป็นบุคคลรักร่วมเพศ จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะมองมุมไหน การแต่งตัวข้ามเพศก็ดูจะถูกมองในแง่ลบเสียสิ้น ลองดูคำนิยามที่นักวิชาการในอดีตให้ไว้เกี่ยวกับการแต่งกายข้ามเพศดู

“โรคชอบแต่งกายลักเพศ (Transvestism) คือพฤติกรรมการแต่งกายข้ามเพศกับเพศสภาพของตนเอง ถึงแม้ว่าความหมายของชื่อโรคนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและสถานการณ์ แต่ความหมายโดยรวมมักหมายถึงผู้ที่มีความสนใจในการแต่งตัวด้วยชุดข้ามเพศอย่างสมัครใจ พบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง รักเพศเดียว เพศตรงข้าม รักสองเพศ หรือแม้กระทั่งไม่ฝักใฝ่ทางเพศ

แฟชั่นไม่มีเพศจริงหรือ

ในฐานะของมนุษย์เดินธรณีคนหนึ่ง ผมไม่ค่อยชอบใจคำนิยามของการแต่งกายข้ามเพศ รวมถึงค่านิยมเกี่ยวกับการแต่งกายของทั้งชายและหญิงที่สังคมกำหนดขึ้นมาสักเท่าไร ผมคิดว่าอาภรณ์ไม่กี่ชิ้น ไม่สามารถตัดสินเพศและขนบปฏิบัติของใครได้ แต่ผมจะไปรู้อะไร เพราะผมก็ยังคงเดินไปบนท้องถนนพร้อมกับการแต่งกายที่ถูก Define (ตีกรอบ) มาแล้ว ว่านี่คือแฟชั่นสำหรับผู้ชาย

จนผมมีโอกาสได้เห็นน้องคนหนึ่งบนหน้าฟีดอินสตราแกรม ที่มาพร้อมกับรูปสไตล์การแต่งตัวแบบ “Cross-dressing” หรือคือการนำเสื้อผ้าผู้หญิงมาผสมผสานในการแต่งตัวของตัวเอง ผมจึงไม่รอช้า ทักไปสอบถามและขอสัมภาษณ์ทันที

น้องเขาชื่อบอส เพิ่งจบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนี้เป็นฟรีแลนซ์ทำงานด้านกราฟิกอยู่

ผมติดต่อบอสไปด้วยหลายสาเหตุ ข้อแรกที่แสนตื้นเขินคือ ผมกับน้องเคยทำงานด้วยกันมาก่อนอย่างใกล้ชิด เลยคิดว่าน่าจะแบ่งปันมุมมองได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น อีกข้อคือบอสไม่ได้แต่งตัวแบบ Cross-dressing เพื่อแค่จะถ่ายรูปแค่ครั้งสองครั้ง แต่น้องนำเสื้อผ้าผู้หญิงมาผสมในการแต่งตัวบ่อยครั้งจนเป็นกิจวัตร

เมื่อผมกับบอสมานั่งที่โต๊ะตัวเดียวกัน (จริงๆ สัมภาษณ์บนลานอัฒจันทร์) คำถามที่ผมต้องการได้ข้อสรุปกลับไปมีเพียงหนึ่งเดียวคือ “แฟชั่นมีเพศหรือไม่”

จุดเริ่มต้นของการแต่งตัวแนวนี้มาจากศิลปินคนหนึ่งที่ผมชอบ

“ผมชอบศิลปินคนหนึ่งคือแมทธิว ฮีลีย์ วง The 1975 เขามีแนวคิดหรือลักษณะความคิดที่ไม่ค่อยสนใจโลกเสียเท่าไร แต่ผมไม่ได้มีความพยายามจะเป็นเขาขนาดนั้น ผมแค่ชอบในความไม่แคร์โลกของเขาแค่นั้นเอง”

แมทธิว ฮีลีย์ คือฟรอนท์แมน (นักร้องนำ) จาก The 1975 วงดนตรีป๊อบร็อคที่มีผลงานเพลงอันโด่งดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Robbers, Somebody Else หรือเพลงสุดคลาสสิกอย่าง Chocolate ซึ่งไม่เพียงแต่อัลบั้มที่โด่งดังเป็นที่นิยม แต่แมทธิวยังเป็นไอดอลให้กับใครหลายคนในเรื่องของการใช้ชีวิตสุดโต่งไม่สนใคร

“ผมรู้สึกว่าแมทธิว ฮีลีย์สร้างแรงบันดาลใจให้กับผมหลายอย่าง ทั้งเรื่องดนตรี ความคิดและทัศนคติ และแน่นอน การแต่งตัว เพราะเขาเอาเสื้อผ้าผู้หญิงมาแมทช์กับการแต่งตัว และทำให้เห็นว่า การแต่งตัวแบบนี้ไม่ได้ดูแปลกแต่อย่างใด นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมเชื่อว่าการแต่งตัวไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว”

วันแรกที่ใส่เสื้อผู้หญิงเพราะเหลือบไปเห็นกองผ้าเก่าของอาม่า

“ผมคุ้ยกองเสื้อผ้าที่ทั้งอาม่าและแม่ของผมไม่ใส่แล้ว และเหลือบไปเห็นเสื้อสเวตเตอร์คอย้วยสภาพเก่าค่อนไปทางแย่ของอาม่า ซึ่งอาม่าไม่ได้ใส่แล้ว ผมเลยหยิบเอามาใส่”

“หลังจากนั้น ผมก็หยิบเครื่องแต่งตัวอื่นของแม่มาลองด้วยกัน หมุนตัวหน้ากระจกสองสามที แล้วก็เดินออกจากบ้านไปเลย โดยไม่ได้รอฟังคำวิจารณ์จากคนในครอบครัว”

แล้วเสียงของคนในครอบครัว เพื่อน คนรู้จัก คนรอบข้างเป็นอย่างไร

“ถ้าเป็นคนในครอบครัว แม่ก็จะแซวบ้างพอขำๆ เช่น ‘แอบเอาเสื้อผ้าแม่มาใส่อีกแล้วนะ’ หรือ ‘แต่งแบบนี้เป็นกะเทยหรือเนี่ย’ แต่ถามว่าเป็นเชิงลบหรือเปล่า ก็บอกเลยว่าไม่ ผมโดนแม่แซวบ่อยๆ เข้า ก็ชวนแม่เดินเข้าร้านขายเสื้อผ้า ไปแผนกเสื้อผ้าผู้หญิงเพื่อเลือกด้วยกันไปเลย (หัวเราะ)”

“แล้วกับเพื่อน คิดว่าไม่ค่อยมี หรือถ้ามีก็แปลว่าผมไม่ได้สนใจอะไรมาก เพราะมันไม่ได้เป็นแง่ลบจนเราเก็บมาคิดหรือใส่ใจขนาดนั้น อาจจะเป็นเพราะเราอยู่ในสังคมมหาวิทยาลัยด้วย มันเลยไม่มีใครมานั่งจับผิดเรา เพื่อนๆ รู้อยู่แล้วว่าผมเป็นอย่างไร เขาก็ไม่ได้อะไรกันมาก ส่วนมากก็จะเป็นการแซวขำๆ อารมณ์ประมาณถ้าไม่ใช่ผม ก็ไม่รู้ว่าใครจะแต่งแบบนี้ได้เหมือนกัน (หัวเราะ)”

เคยแต่งชุดแมทช์ของผู้หญิงไปเล่นดนตรีไหม

“เคยครับ ก็ไม่ได้โดน Feedback อะไรมากมายนะ อาจจะโดนแซวประมาณว่า ‘นั่งอยู่หลังกลอง แต่แต่งมาซะเต็มเลยนะ’ ขำๆ กันไปมากกว่า”

ผมไม่สามารถรู้ความคิดคนอื่นได้ ผมแค่เชื่อว่าการแต่งตัวของผมไม่แปลก

“ผมไม่มีชุดโปรด แต่ผมมีสีโปรดในการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าผู้หญิง สีที่ผมชอบมากที่สุดคือชมพู ดำ และขาว อย่างเช่นผมใส่เสื้อคลุมผู้หญิง ผมจะเลือกตัดด้วยอะไรที่ทะมัดทะแมงเช่นกางเกงยีนส์ สแล็คสีดำ หรือรองเท้าคัชชูแทน”

“ผมลองใส่เสื้อผ้าพวกนี้และผมรู้สึกว่ามันเข้ากันดี แต่ผมก็ไม่รู้ว่าคนอื่นคิดยังไง หลายคนอาจจะมองว่าการแต่งตัวแบบนี้ดูแปลก เพราะพวกเขาอาจมีทัศนคติที่ถูกปลูกฝังมาอีกแบบหนึ่ง แต่สำหรับตัวผมแล้ว มันไม่แปลก”

แน่นอนว่าใครหลายคน รวมถึงตัวผมมักรู้สึกกังวล เวลาต้องริเริ่มทำอะไรใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่ตรงข้ามกับเพศสภาพของตนเอง แต่เรามักหวาดระแวงและกลัวกับการต้องนำเสนออะไรสู่สาธารณะอยู่เสมอ คงจะดีไม่น้อย ถ้าเรามีความมั่นใจได้สักครึ่งนึงของน้องบอส

บอสคิดเห็นอย่างไรกับการใส่เสื้อผ้าตรงข้ามกับเพศสภาพ

“ผมมองว่ามันเป็นเรื่องปกติ เราต้องมองย้อนกลับไปก่อนว่า เพศของเสื้อผ้ามันถูกกำหนดมานานแล้ว ผู้ชายต้องแต่งแบบนี้ ผู้หญิงต้องแต่งแบบนี้ มันเป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้ว มันคือการแบ่งเพศไปโดยปริยาย ผมขอพูดถึงหนังเรื่องนี้ ชื่อเรื่องว่า PK จากอินเดีย”

จากนี้จะเป็นการสปอยล์ภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างดุเดือด

“หนังเรื่องนี้เล่าถึงมนุษย์ต่างดาวที่ลงมายังโลกแบบตัวเปล่า คือเปลือยมาเลย ทีนี้ตอนกำลังจะกลับดาว เขาทำอุปกรณ์ที่ช่วยให้ตนเองกลับดาวได้หายไป มนุษย์ต่างดาวเลยต้องอยู่บนโลกต่อไป พร้อมกับเริ่มเรียนรู้วิธีชีวิตของมนุษย์ ซึ่งรวมถึงการแต่งตัวด้วย ช่วงแรกมนุษย์ต่างดาวจะโดนบูลลี่ (กลั่นแกล้งรังแก) เพราะเขาใส่เสื้อผ้าไม่ตรงสภาพ เขาหยิบเสื้อผ้าผู้หญิงมาใส่บ่อยครั้ง”

“หนังสะท้อนบรรทัดฐาน หรือมาตรฐานทางสังคมที่มนุษย์กำหนดขึ้นมาร่วมกัน ว่าสิ่งต่างๆ มันควรจะเป็นอย่างนี้ ผู้ชายควรแต่งตัวแบบนี้ ผู้หญิงควรเป็นแบบนี้ ผู้ชายต้องกางเกง ผู้หญิงต้องใส่กระโปรง”

เราจะสังเกตเห็นบรรทัดฐานที่บอสกล่าวถึงในทุกซอกมุมของสังคม อย่างเช่นแบรนด์เสื้อผ้าที่จำเป็นต้องผลิตเสื้อผ้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค นั่นแปลว่าเรื่องการแต่งตัวและการแบ่งเพศเป็นของคู่กันมาตั้งนานแล้ว

“ปัจจุบันมีการรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมและ LGBTQ+ มากขึ้น ซึ่งผมเองก็รู้สึกว่า การแต่งตัวไม่ควรถูกใช้มาเป็นประเด็นในการแบ่งแยกเพศ ขอแค่เรามั่นใจในการแต่งตัวของตัวเองก็พอแล้ว บางคนพอใจจะแต่งตัวตามเพศสภาพ แต่หากใครกำลังรู้สึกว่าโดนจำกัดกรอบการแต่งตัว ก็ให้หาทางหลุดออกมาจากกรอบนั้น เพราะมันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ได้ Define การเป็นเรา เพราะฉะนั้น เราอยากแต่งอะไรก็แต่งไปเถอะ”

คิดว่าสังคมไทยเปิดกว้างกับเรื่องแบบนี้มากพอหรือยัง หากเทียบประเทศอื่นๆ

“ผมว่าไม่ใช่แค่เฉพาะประเทศไทย แต่เราต้องมองในรูปแบบของทั้งโลก เราอาจมองเห็นคนแต่งตัวแตกต่างกัน แต่เราไม่ได้มองว่ามันแปลก คือมันเหมือนกับเพลงที่เราชอบ เพลงหนึ่งอาจเป็นเพลงป็อบ เพลงหนึ่งอาจเป็นอีกแนว แต่ทั้งคู่มีความเพราะในแบบของมันเอง เราเลยฟังได้ทั้ง 2 เพลง ด้วยว่ามันเพราะในแบบของมันเอง”

บอสพยายามสื่อให้เราเห็นว่า การแต่งตัวก็เหมือนแนวเพลงที่แตกต่างกัน เราอาจเห็นคนแต่งตัวในหลากหลายลักษณะ แต่เราแค่ไม่ได้มองว่ามันแปลกแต่อย่างใด เพราะหากมองโดยรวมแล้ว การแต่งตัวแต่ละแบบก็กลมกลืนกันไปในสภาพแวดล้อมนั้นๆ

“ผมหรือพี่อาจเจอผู้ชายที่แต่งตัวด้วยชุดผู้หญิง แต่เรา 2 คนไม่ได้มองเป็นเรื่องแปลก ไม่ว่าจะประเทศนี้หรือที่ไหนบนโลกก็มีเหมือนกัน บุคคลเหล่านี้อาจมาในรูปแบบของคนธรรมดาที่เราไม่เคยเห็นบนท้องถนน หรืออาจเป็นศิลปินที่นำเสนอตัวตนของพวกเขาผ่านการแต่งตัวก็เป็นได้ เหมือน Matthew Healy นี่แหละ”

“บางทีเราก็ระบุแนวเพลงที่เรากำลังฟังอยู่ไม่ได้ ไม่รู้ว่ามันเป็น Jazz Pop หรือ Sync Pop หรืออะไร แต่มันเป็นแนวเพลงที่เกิดจากความนิยมในช่วงเวลาหนึ่งเหมือนๆ กัน ถ้าการแต่งตัวแบบผมมีมากขึ้นในอนาคต เราก็จะไม่ได้มองว่าการแต่งตัวแบบนี้นอกคอก หรือแปลก แต่เราจะมองว่ามันก็เป็นอีกหนึ่งสไตล์ในการแต่งตัวแค่นั้น”

คนที่ไม่เห็นด้วยต้องเปลี่ยนด้วยตัวเขาเอง เราหรือใครก็ตามเปลี่ยนพวกเขาไม่ได้

“ผมโชคดีที่ตัวผมไม่ต้องไปนั่งจับเข่าคุยกับคนในครอบครัวเพื่อบอกว่าทำไมผมถึงแบบนี้ ผมทำเพราะผมชอบและพอใจที่จะทำ แต่ผมเข้าใจว่า มีคนที่ต้องการจะนำเสนอตัวตนผ่านการแต่งตัวแบบนี้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามอยู่ แต่อาจติดปัญหาจากคนรอบข้างหรือคนในครอบครัว”

ผมชอบประโยคหนึ่งของบอส ตอนสัมภาษณ์คือ “คนที่ไม่เห็นด้วยแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือคนที่ยังจำเป็นที่เราต้องมีอยู่ในชีวิต ถ้าเป็นแบบนี้ เราควรอธิบายให้เขาเข้าใจถึงเหตุผลในการแสดงออกของเรา ว่าทำไมเราถึงแต่งตัวแบบนี้ ว่าสิ่งที่เราทำไม่แปลก และเราไม่ควรเอาเรื่องเพศกับการแต่งตัวมาเป็นประเด็น”

แล้วอีกแบบล่ะ

“อีกแบบคือคนที่ไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับเรา คนพวกนี้ก็ช่างแ*งไปเถอะครับ” (เย็นน้อง)

มีอะไรอยากฝากก่อนจบบทสัมภาษณ์นี้ไหม

“เอาเป็นสรุปละกันครับ ไม่ต้องไปแคร์เสียงรอบข้างมากนัก เราควรเลือกฟังเสียงที่เข้ามาในชีวิตเรา อะไรที่ทำให้เราพัฒนาขึ้น หรือเป็นประโยชน์กับเรา ก็เลือกฟังเอาไว้ แต่อะไรก็ตามที่มันเป็นผลเสียต่อตัวเรา หรือไม่ได้ก่อให้เกิดอะไร และยังทำร้ายเราด้วย ก็อย่าไปใส่ใจมากนัก”

“เป็นตัวเองให้มากที่สุดจะดีกว่า”

สอบถามข้อมูลอื่นๆ หรือสิทธิพิเศษเพิ่มเติม

กรุณาสแกนคิวอาร์โค้ด หรือเพิ่มเพื่อนด้วยไอดีไลน์ @kaideeofficial